รีเซต

มีแผลเรื้อรังในช่องปาก สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งช่องปาก

มีแผลเรื้อรังในช่องปาก สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งช่องปาก
TNN ช่อง16
25 เมษายน 2568 ( 20:09 )
10

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งในช่องปาก คือมะเร็งที่เกิดบริเวณลิ้น พื้นของช่องปาก ริมฝีปาก เหงือก เนื้อเยื่อบุในช่องปากและเพดานแข็ง อุบัติการณ์ของมะเร็งชนิดนี้ในประเทศไทยคือ 5.5 ต่อประชากร 100,000 คนในเพศชาย และ 4.3 ต่อประชากร 100,000 คนในเพศหญิง ซึ่งถือว่าพบได้บ่อย โดยคิดเป็นร้อยละ 25 ของมะเร็งศีรษะและลำคอทั้งหมด ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งในช่องปากที่สำคัญ คือการสูบบุหรี่หรือยาเส้นและการดื่มแอลกอฮอล์ 

เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถิติของการเกิดมะเร็งช่องปาก พบว่าการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยง 1.9 เท่าในเพศชาย และ 3 เท่าในเพศหญิงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สูบ ส่วนการบริโภคแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงได้สูงถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่บริโภค และหากมีการสูบบุหรี่ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้มากกว่าคนปกติได้สูงถึง 35 เท่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก เช่น การเคี้ยวหมากพลู การเคี้ยวยาเส้น การใส่ฟันปลอมที่มีขนาดไม่พอดีกับช่องปาก รวมถึงสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี


แพทย์หญิงรจนา ญาณสมบูรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สาขาโสต ศอ นาสิก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของผู้ป่วยมะเร็งในช่องปาก มักมาด้วยรอยโรคในช่องปาก เช่น มีแผลหรือก้อนในช่องปากที่เป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ ฝ้าขาวหรือรอยแดงในช่องปาก และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เจ็บในช่องปาก มีเลือดออก จากรอยโรคในช่องปาก รับประทานอาหารได้ลดลง และน้ำหนักตัวลดลง รวมไปถึงการมีก้อนที่คอ เป็นต้น ขั้นตอนการวินิจฉัยคือการตัดชิ้นเนื้อที่ตำแหน่งรอยโรคในช่องปากไปตรวจเพิ่มเติมทางพยาธิวิทยา ในผู้ป่วยบางรายอาจพิจารณาทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูระยะของโรคและวางแผนการรักษาต่อไป โดยการรักษามะเร็งช่องปาก จะพิจารณาจากรอยโรคที่เกิดขึ้น และสภาวะของผู้ป่วย เช่น โรคประจำตัว  โดยหากสามารถผ่าตัดได้จะพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก ในบางรายอาจมีการฉายรังสี และ/หรือการให้เคมีบำบัดร่วมด้วยหลังผ่าตัด 

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะทางพยาธิวิทยาของมะเร็งของผู้ป่วยรายนั้น ๆ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ จะให้การรักษาโดยการฉายรังสี และ/หรือการให้ยาเคมีบำบัด จะเห็นได้ว่ามะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่สามารถมองเห็นรอยโรคด้วยตนเองได้ง่าย จึงแนะนำให้ทุกคนหมั่นสำรวจช่องปากตนเองอย่างสม่ำเสมอหลังแปรงฟัน โดยบริเวณต่าง ๆ ในช่องปาก สามารถสังเกตได้ดังนี้ ริมฝีปาก ทั้งด้านนอกและในเยื่อบุช่องปาก โดยอาจส่องกระจกแล้วดึงริมฝีปากด้านบนและล่างเพื่อสังเกตดูเยื่อบุช่องปากด้านใน ลิ้นและใต้ลิ้นและพื้นของช่องปาก โดยแลบลิ้นหน้ากระจกเพื่อสำรวจลิ้น ขยับลิ้นไปแตะกระพุ้งแก้มแต่ละข้างเพื่อดูด้านข้างของลิ้น และกระดกลิ้นเพื่อดูใต้ลิ้นรวมถึงบริเวณพื้นของช่องปากด้วย กระพุ้งแก้ม โดยใช้นิ้วเกี่ยวมุมปากทีละข้างและสำรวจบริเวณกระพุ้งแก้ม เหงือกและเพดานปาก สังเกตได้โดยการอ้าปากก้มหน้าเล็กน้อยเพื่อดูเหงือกด้านล่าง และเงยหน้าเพื่อสังเกตเหงือกด้านบนและเพดานปาก 

นอกจากนี้ความเสี่ยงของมะเร็งช่องปากบางปัจจัยก็สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน เช่น การหยุดสูบบุหรี่หรือยาเส้น หยุดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการเคี้ยวหมากพลูและการใส่ใจรักษาสุขภาพช่องปากเป็นประจำ รวมถึงการพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเป็นประจำ ก็จะช่วยให้เราได้ตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากได้ด้วยเช่นกัน และหากผู้ป่วยรายใดที่มีแผลเรื้อรังในช่องปากเกิน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติในช่องปากก็สามารถเข้ารับการตรวจกับแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป 

หากท่านมีข้อสงสัย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติผ่านทาง Facebook : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute และ LINE : NCI รู้สู้มะเร็ง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง