รีเซต

TNN Exclusive : เหลือ 100 กว่าวัน หมด “ฤดูฝน” น้ำในเขื่อนต่ำกว่าเกณฑ์

TNN Exclusive : เหลือ 100 กว่าวัน หมด “ฤดูฝน”  น้ำในเขื่อนต่ำกว่าเกณฑ์
TNN ช่อง16
27 มิถุนายน 2566 ( 15:21 )
52
TNN Exclusive : เหลือ 100 กว่าวัน หมด “ฤดูฝน”  น้ำในเขื่อนต่ำกว่าเกณฑ์


การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) กำลังเป็นที่พูดถึงของคนทั่วโลก โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชน ในการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค รวมถึงภาคการเกษตร



ภาพ : TNN ข่าวเที่ยง

 



ข้อมูลล่าสุดจาก “บุญสม ชลพิทักษ์วงศ์” รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า ประเทศไทย ได้เข้าสู่ภาวะเอลนีโญแล้ว แต่ยังคงอยู่ในภาวะอ่อนๆ โดยฝนที่ตกมาในช่วงปี 2566 อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าทุกปี โดยปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศ ตั้งแต่มกราคม มีค่าต่ำกว่าปกติถึงร้อยละ 28 โดยเฉพาะภาคเหนือ มีฝนต่ำกว่าปกติร้อยละ 38 ขณะที่ภาคกลาง มีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ ถึงร้อยละ 55



ภาพ : TNN ข่าวเที่ยง

 



นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยว่า จากข้อมูลสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ที่รายงานสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มิ.ย.) มีปริมาณน้ำใช้การ อยู่ที่ 3,940 ล้านลูกบาศก์เมตร (คิดเป็นร้อยละ 16) โดยต้องการน้ำเก็บกักเพิ่มมากถึง 8,060 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ประมาณการความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งและช่วงต้นฤดูฝนของปี 2566 ทั้งสิ้น 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ฤดูฝนจะสิ้นสุดในอีก 127 วัน (ข้อมูล ณ 27 มิ.ย.2566 )  



ภาพ : TNN ข่าวเที่ยง

 


ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดภาพรวมปริมาณฝนทั่วประเทศ ตั้งแต่ 27 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2566 ทั่วประเทศจะมีฝนเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นการตกกระจายและตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกด้านรับมรสุม และใกล้แนวร่องมรสุม ส่วนภาคกลางรวมถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล มีฝนตกบางพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ปริมาณฝนอาจยังไม่เพียงพอเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักทั่วประเทศ


ภาพ : TNN ข่าวเที่ยง

 


เมื่อได้รับรู้ข้อมูลจากหน่วยงานหลักๆ ที่ดูแลเรื่องน้ำของประเทศแล้ว ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ในรอบนี้ เชื่อว่า จะกระทบต่อคนไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นการประหยัดน้ำ และหลีกเลี่ยงการเกษตรที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก จึงเป็นทางเลือกและเป็นทางรอด ที่จะทำให้สถานการณ์ ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ 



ภาพ : TNN ข่าวเที่ยง

เรียบเรียง : มนตรี ขัดเรือง 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง