รีเซต

UAE เตรียมส่งยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีในปี 2034

UAE เตรียมส่งยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีในปี 2034
TNN ช่อง16
30 พฤษภาคม 2566 ( 09:01 )
75
UAE เตรียมส่งยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีในปี 2034

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ออกมาเผยถึงรายละเอียดของภารกิจส่งยานอวกาศสำหรับสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ซึ่งมีชื่อภารกิจว่า ‘ภารกิจเอมิเรตส์สู่แถบดาวเคราะห์น้อย (Emirates Mission to the Asteroid Belt)’ อันมีจุดประสงค์เพื่อค้นหาน้ำและสารอินทรีย์ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลก นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังคาดการณ์ไว้ด้วยว่าดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีจะช่วยไขคำตอบได้ว่าน้ำในอวกาศเดินทางมาอยู่บนโลกของเราได้อย่างไร


แถบดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี 

ก่อนหน้านี้ในปี 2021 ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เคยออกมาประกาศว่ามีแผนที่จะเปิดตัวภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ซึ่งยานอวกาศจะไปเยือนดาวเคราะห์น้อยทั้งหมด 7 ดวง ภายในปี 2028 โดยบริเวณดังกล่าวอยู่ห่างจากโลก 179.5 - 329 ล้านกิโลเมตร


สำหรับยานอวกาศที่จะใช้มีชื่อว่าเอ็มบีอาร์ เอ็กซ์โพลเลอร์ (MBR Explorer) ซึ่งจะลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยด้วยแรกภายในปี 2030 และจะลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยดวงสุดท้ายคือจัสติเทีย (Justitia) ภายในปี 2034 อันเป็นจุดหมายที่เป็นไฮไลต์สำคัญของภารกิจเนื่องจากดาวเคราะห์น้อยจัสติเทียถูกสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นมาใกล้กับโลก ก่อนจะย้ายไปอยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอย่างไม่ทราบสาเหตุ หากนักดาราศาสตร์สามารถค้นพบน้ำและสารอินทรีย์บนดาวเคราะห์น้อยจัสติเทียได้อาจช่วยไขปริศนาได้ว่าน้ำและสิ่งมีชีวิตบนโลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ 

นอกจากนี้ การแถลงล่าสุดของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังเผยถึงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่จะเดินทางไปพร้อมกับยานอวกาศ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ชิ้น ได้แก่

  1. กล้องความละเอียดสูง 

  2. กล้องอินฟราเรดความร้อน 

  3. สเปกโตรมิเตอร์ความยาวคลื่นกลาง 

  4. อินฟราเรดสเปกโตรมิเตอร์


โดยปัจจุบัน หน่วยงานอวกาศเริ่มให้ความสำคัญกับการสำรวจดาวเคราะห์น้อยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการคาดการณ์ว่าหลักฐานของสิ่งมีชีวิตบนโลกอาจอยู่บนดาวเคราะห์น้อย ยกตัวอย่างเช่น การส่งยานอวกาศลูซี่ (Lucy) ของนาซา (NASA) ไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย


"เราจะไม่หยุดมองไปข้างหน้า เราจะไม่หยุดความพยายามในการพัฒนาอนาคตที่สดใสสำหรับคนรุ่นใหม่ของเรา" ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มักตูม บิน ราชิด อัล มักตูม (Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoumbin Rashid Al Maktoum) รองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และผู้ว่าการนครดูไบกล่าว


โดยภารกิจดังกล่าวถือว่าท้าทายมากสำหรับองค์การอวกาศแห่งประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่พึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2014 เนื่องจากระยะทางจากโลกไปยังบริเวณกลุ่มดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีค่อนข้างไกล ในขณะที่นาซาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1958


ข้อมูลจาก space.com

ภาพจาก Forbes

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง