รีเซต

อินฟราฟัน : ปักหมุด...สะพานไทย เชื่อมความเจริญอีอีซีสู่ภาคใต้

อินฟราฟัน : ปักหมุด...สะพานไทย  เชื่อมความเจริญอีอีซีสู่ภาคใต้
มติชน
14 ตุลาคม 2563 ( 12:08 )
79

อินฟราฟัน : ปักหมุด…สะพานไทย เชื่อมความเจริญอีอีซีสู่ภาคใต้

 

อินฟราฟันสัปดาห์นี้ จะพาทุกคนมารู้จักกับ โครงการสะพานไทย หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อโครงการนี้มาบ้างแล้ว ซึ่งโครงการสะพานไทยเป็นหนึ่งในโครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นแนวคิดของ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบศ.)

 

ที่ต้องการเชื่อมทะเลฝั่งตะวันออกและตะวันตกของอ่าวไทยตอนบน หรือเชื่อมต่อระหว่างชลบุรี-เพชรบุรี โครงการดังกล่าวได้มีการเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) แล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยบอร์ดได้อนุมัติให้ศึกษาโครงการในเบื้องต้นก่อน เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการระยะยาว คาดว่าใช้ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 1 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต่อไป และใช้เวลาในการก่อสร้างอีกประมาณ 10-15 ปี

 

จุดประสงค์ของโครงการดังกล่าวต้องการกระจายความเจริญในพื้นที่อีอีซี ที่มีความแตกต่างจากอีกด้านของอ่าวไทยอย่างมาก แม้แต่การท่องเที่ยวก็แตกต่างกัน โดยสถิติการท่องเที่ยวระหว่างสองฝั่งในทะเลอ่าวไทย คือ ด้านประจวบคีรีขันธ์ หัวหิน ต่างกับด้านพัทยา ชลบุรี โดยเฉพาะในฝั่งพัทยา ชลบุรี จำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าอีกฝั่งหนึ่งถึง 10 เท่า ทั้งที่จริงแล้ว คนต้องการที่จะท่องเที่ยวด้านเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ มีจำนวนมากเช่นกัน แต่ในฝั่งพัทยา ชลบุรี มีสิ่งที่ดึงดูดมากกว่า ทั้งโครงการความเจริญต่างๆ ถูกสร้างไว้ที่ชลบุรี และฝั่งอีอีซี แถมในอนาคตไทยจะมีสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์สร้างขึ้นอีก ยิ่งเป็นการดึงดูดการเดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นอีกด้วย

 

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการสร้างสะพานเพื่อเชื่อมทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน จะเป็นสะพานที่มีความยาว 80-100 กิโลเมตร ทำให้เส้นทางที่ปกติต้องอ้อมไกลถึงเกือบ 400 กิโลเมตร ลดลงเหลือ 1 ใน 3 หากทำทางเชื่อมได้ความเจริญจากภาคตะวันออกจะมาเชื่อมกับภาคตะวันตก และลงไปยังพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตกได้ทันที

 

ด้วยวิธีนี้ เมื่อมีถนนที่เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยฝั่งตะวันออกและตะวันตก ความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ จะถูกถ่ายโอนไปยังฝั่งตะวันตกได้ ส่วนด้านการท่องเที่ยวทางจังหวัดในฝั่งอ่าวไทยตะวันตกก็สามารถเดินทางมารับนักท่องเที่ยวจะสนามบินอู่ตะเภาเดินทางข้ามฝั่งไปท่องเที่ยว หรือทำการค้ายังฝั่งตะวันตกได้อีกด้วย

 

ต้องติดตามกันต่อไป หากเดินหน้าโครงการได้จริง จะบรรลุสร้างความคึกคักภาคท่องเที่ยวและภาคการค้าสองฝั่งได้!!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง