รีเซต

‘100 ปี มังกรผงาด’ เจาะความสำเร็จพรรคคอมมิวนิสต์จีน

‘100 ปี มังกรผงาด’ เจาะความสำเร็จพรรคคอมมิวนิสต์จีน
TNN World
2 กรกฎาคม 2564 ( 14:39 )
250
Editor’s Pick: ‘100 ปี มังกรผงาด’ เจาะความสำเร็จพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 หลังขับเคลื่อนจีนสู่ชาติมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลต่อโลก
 
 
วานนี้ (1 กรกฎาคม) เป็นวันครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน, พรรคการเมืองเดียวที่ปกครองประเทศมายาวนานกว่า 72 ปี ท่ามกลางหลายประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
 
 
พรรคคอมมิวนิสต์จีน พิสูจน์ตัวเองยืนหยัดเหนือคำทำนายจากโลกตะวันตกที่เชื่อว่า จีนจะต้องล่มสลายตามสหภาพโซเวียตไปอย่างแน่นอน มาวันนี้ จีนกลับกลายเป็นประเทศมหาอำนาจ และทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ ทัดเทียมสหรัฐฯ ในเวลาไม่นาน
 
 
 
ความสำเร็จ 7 ประการของชาติมังกร
 
 
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายความสำเร็จ 7 ประการที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังคงดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ไว้ว่า
 
 
ประการที่ 1 พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง ในการวางยุทธศาสตร์ และวางนโยบาย โดยเอาประชาชนเป็นหลักใหญ่ก่อนเสมอ เพื่อรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร และพรรคคอมมิวนิสต์เอง สามารถตอบสนองในสิ่งที่ประชาชนต้องการได้
 
 
ประการที่ 2 ตัวผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในแต่ละรุ่น ซึ่งปัจจุบันมีมาทั้งหมด 5 รุ่น เป็นคนที่ทางพรรคเลือกได้เหมาะสมต่อช่วงเวลาสถานการณ์ของพรรคเอง
 
 
ประการที่ 3 พรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ได้ทำแค่นโยบายเพื่อตอบสนองต่อคนของพรรค, ประชาชนจีน หรือผู้นำเท่านั้น แต่พรรคคอมมิวนิสต์มีการตั้งเกณฑ์มาตรฐาน เปรียบเทียบ ตั้งเป้าหมายให้ไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกัน ก็เปรียบเทียบตัวเองกับประเทศอื่น เพื่อดูบริบทรอบข้างและศึกษากรณีของประเทศอื่น ๆ ด้วย
 
 
ประการที่ 4 พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีวิธีการจัดการบริหารโดยเน้นผลสัมฤทธิ์เป็นหลัก ดั่งคำเปรียบเปรยที่ว่า “จะเป็นแมวขาวหรือแมวดำ ขอให้จับหนูได้ก็เป็นแมวที่ดี” ซึ่งเป็นการบริหารที่เน้นผลสัมฤทธิ์ โดยไม่ได้คำนึงว่าจะเป็นระบบทุนนิยม ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่กลไกตลาด
 
 
ประการที่ 5 พรรคคอมมิวนิสต์จีน รู้จักปรับตัวเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน และยอมรับกฎกติกาในเวทีโลก เพื่อนำมาปรับใช้กับตัวเอง
 
 
ประการที่ 6 พรรคคอมมิวนิสต์จีน เน้นเรื่องของ ‘ธรรมมาภิบาล’ ที่ชัดเจน ปราบปรามกวาดล้างคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด เพื่อทำให้ตัวเองไม่มีแผลจากข้างใน และสามารถรับมือกับเปลี่ยนแปลงภายนอกได้
 
 
ประการสุดท้าย แม้ระบบการเมืองการปกครองของจีน จะรวมศูนย์อำนาจไว้กับระบบสูงสุดค่อนข้างมาก แต่กลับพบว่า ตัวพรรคเองมีการกระจายอำนาจลงไปในระดับท้องถิ่น จนถึงการเลือกผู้นำท้องถิ่น และการตัดสินใจแบบนี้ ด้วยความที่เคยเป็นสังคมนิยมที่วางแผนจากส่วนกลาง เลยเป็นการกระจายอำนาจที่วางอยู่บนฐานข้อมูลค่อนข้างถูกต้องแม่นยำ
 
 
 
ปราบโควิด-19 ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์
 
 
จีนเป็นประเทศแรก ๆ ที่สามารถกำราบไวรัสโควิด-19 ให้อยู่หมัด แม้หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายสายพันธุ์ แต่จีนยังสามารถควบคุม และผลักดันเศรษฐกิจให้ดำเนินไปข้างหน้าได้
 
 
นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก อย่าง Sinovac และ Sinopharm ด้วย สร้างความไว้วางใจให้แก่ประชาชน และเพิ่มความนิยมแก่พรรคคอมมิวนิสต์ เสมือนเป็นการประกาศชัยชนะกลาย ๆ ของตัวพรรคเอง
 
 
รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า โลกทุกวันนี้แข่งขันกันในเรื่องของการทูตวัคซีน และโควิดก็คือสนามแข่งขัน เพื่อพิสูจน์ว่าใครจะสามารถเอาชนะ หรือสามารถพัฒนาได้มากกว่ากัน
 
 
“หลายคนเปรียบเทียบว่าจีน คือคนที่เข้าห้องสอบคนแรก และสามารถทำข้อสอบได้เกือบเต็ม พอออกจากห้องสอบ จีนเอากระดาษคำตอบที่ตัวเองได้คะแนนเกือบเต็มมาให้เพื่อน ๆ ดูว่าต้องทำอย่างไร แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยอมลอกข้อสอบจีน ทั้ง ๆ ที่ข้อสอบจีนผ่านแล้ว” รศ.ดร.ปิติ กล่าว
 
 
ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา ยังกล่าวต่ออีกว่า ทุกวันนี้จีนฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วกว่า 1,200 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรไปแล้ว 40% ซึ่งจีนพิสูจน์แล้วว่าวัคซีนของเขาใช้งานได้ และที่สำคัญจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ เพราะจีนรู้ว่าฉีดวัคซีนอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย
 
 
 
การเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่มั่นคง-เสริมเสถียรภาพ
 
 
การเลือกผู้นำพรรคในแต่ละช่วงของสถานการณ์ ถือเป็น 1 ในความสำเร็จที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองประเทศได้ยาวนาน นับตั้งแต่ยุคของเหมา เจ๋อตุง, เติ้ง เสี่ยวผิง จนมาถึงปัจจุบันในยุคสี จิ้นผิง
 
 
การบริหารประเทศภายใต้การดูแลของสี จิ้นผิง เกิดการปฏิรูปในหลายเรื่องโดยเฉพาะการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ปราบปรามการฉ้อฉล ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบสวัสดิการให้ประชาชน
 
 
ชาวจีนส่วนใหญ่ต่างรู้สึกว่า ตัวเองมีชีวิตที่ค่อนข้างดีขึ้นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของบำนาญเมื่อเกษียณ และสวัสดิการรักษาโรงพยาบาล ซึ่งสมัยอดีตชาวจีนไม่เคยได้รับสวัสดิการเหล่านี้มาก่อน
 
 
นอกจากนี้ ในปี 2018 สี จิ้นผิง ได้แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี โดยละประโยค ‘ประมุขของประเทศจะดำรงตำแหน่งเกินวาระ 2 ปีมิได้’ จากเดิมดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สมัย วาระละ 5 ปี เป็นการปูทางให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำได้ตลอดชีวิต
 
 
รศ.ดร.ปิติ กล่าวถึงระบบการปกครองของจีนว่า วิธีการบริหารประเทศของจีนวางอยู่บนอำนาจอธิปไตย 5 เสาหลัก ได้แก่ อำนาจแรก ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี, อำนาจที่ 2 บริหาร, อำนาจที่ 3 สภานิติบัญญัติ, อำนาจที่ 4 ศาลกับอัยการประชาชน และอำนาจที่ 5 คือกองทัพ เป็นการคานอำนาจซึ่งกันและกัน และไม่สามารถปฏิวัติกันได้ เพราะอำนาจของแต่ละฝ่ายนั้นเท่ากัน
 
 
ทั้ง 5 อำนาจแต่เดิมอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์อีกทีนึง แต่ภายหลังเมื่อเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจประธานาธิบดีขึ้น ทางจีนเลยเพิ่มอำนาจที่ 6 ขึ้นมา เพื่อคานกับอำนาจของประธานาธิบดี คือ ‘คณะกรรมการการปราบปรามคอร์รัปชัน’
 
 
 
คอมมิวนิสต์ในสายตาของสากลโลก
 
 
ความสำเร็จและการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้เกิดการตั้งคำถามที่ว่า “ระบบประชาธิปไตยยังคงจำเป็นอยู่ไหม?” หรือ “ประเทศที่พัฒนาแล้วจำเป็นต้องมีระบบประชาธิปไตยหรือไม่?”
 
 
รศ.ดร.ปิติ ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า เราต้องแยกส่วนกันระหว่างเรื่องของระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมือง จีนเองไม่ได้เป็นสังคมนิยมแบบลัทธิมากซ์ เลนิน หรือลัทธิอื่นของคอมมิวนิสต์ ระบบของจีนมีการผสมปนเป ไม่ได้เป็นสังคมนิยมแบบเพียว ๆ ให้เรียกว่าเป็น ‘สังคมนิยมแบบอัตลักษณ์จีน’
 
 
ในยุคของเหมา เจ๋อตุง อาจมีการพยายามขยายอิทธิพลทางการเมือง ให้ประเทศอื่นมาเป็นลูกน้องจีน มาใช้วิธีคิดแบบจีน แล้วจีนจะให้การสนับสนุน แต่หลังจากการขึ้นมาของเติ้ง เสี่ยวผิง เราไม่เห็นความพยายามในเรื่องนี้ของจีนอีกต่อไป
 
 
ดังนั้น จีนจึงบอกว่า "ระบบของจีนเหมาะสมกับจีน แต่เขาไม่เคยมาบอกว่า คุณต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบแบบจีน แล้วสิ่งที่จีนเชื่อมั่นและแตกต่างจากยุโรป ต่างจากสหรัฐฯ คือ จีนเชื่อว่า แต่ละประเทศ แต่ละวิถีมีบริบททางสังคม มีรูปแบบที่มันแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นแต่ละประเทศก็ควรแสวงหาแนวทางประชาธิปไตย แนวทางการปกครอง แนวทางเศรษฐกิจของตัวเอง" รศ.ดร.ปิติ กล่าว
 
 
 
 
ไทย-จีน เมืองพี่เมืองน้อง กับความสัมพันธ์อันยาวนาน
 
 
ความสำเร็จด้านอวกาศล่าสุดของจีน ทำให้ทั่วโลกต่างแซ่ซ้องถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกร และเสริมภาพลักษณ์ของชาติมหาอำนาจโลกมากยิ่งขึ้น
 
 
หลายประเทศทั่วโลกหันมาสร้างความสัมพันธ์กับจีน แม้จะมีระบบการปกครองประเทศที่แตกต่างกัน และสหรัฐฯ จะออกมาประกาศต่อต้านจีนเองก็ตาม
 
 
ประเทศไทย เป็น 1 ในประเทศที่มีความสัมพันธ์แบบเมืองพี่เมืองน้องกับจีนมายาวนานกว่า 46 ปี อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ ด้วย
 
 
รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า ไทยรู้จักที่จะถ่วงดุลอำนาจ อยู่ตรงกลาง เราใกล้ชิดทั้งสหรัฐฯ และจีน มีเพียงไม่กี่ประเทศที่จะมีสถานะแบบนี้ได้ บางประเทศคบจีน ก็คบกับสหรัฐฯ ไม่ได้ บางประเทศคบสหรัฐฯ ได้ แต่คบกับจีนไม่ได้ ซึ่งสถานะตรงนี้คิดว่าเป็นจุดแข็งของไทย
 
 
ความยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แสดงแสนยานุภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันมีสมาชิกราว 90 ล้านคน และความนิยมในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทั่วโลกต่างจับจ้องมายังจีนทุกครั้งที่ขยับตัว และมองไปถึงก้าวต่อไปสู่ศตวรรษที่ 2 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า จะมีแนวโน้มทิศทางพาประเทศนี้ไปสู่ความทรงอิทธิพลที่สุดของโลกอย่างไร
 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง