ยูเอ็นเผยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำภัยพิบัติพุ่งเกือบ 2 เท่า
ยูเอ็นเผยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำภัยพิบัติพุ่งเกือบ 2 เท่า
สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดพิบัติภัยทางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นถึงเกือบ 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
สำนักงานยูเอ็นว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (ยูเอ็นดีอาร์อาร์) เผยว่า นับตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2562 ได้เกิดพิบัติภัยครั้งใหญ่ขึ้นถึง 7,348 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1.23 ล้านคน และส่งผลกระทบกับผู้คน 4.2 พันล้านคนทั่วโลก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 2.97 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 93.55 ล้านล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าวแซงหน้าภัยพิบัติทางธรรมชาติที่บันทึกไว้ในช่วงปี 2523-2542 ซึ่งเกิดขึ้น 4,212 ครั้ง ทำให้จำนวนภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นใน 10 ปีให้หลังมากกว่า 10 ปีก่อนหน้าถึง 3,136 ครั้ง
รายงานว่าด้วยภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบกับมนุษย์ในปี 2543-2562 ที่เพิ่งมีการนำออกมาเผยแพร่ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของภัยพิบัติทางธรรมชาติส่วนมากเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกซึ่งรวมถึงน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุฝนที่มีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ความร้อนระอุก็สร้างความสูญเสียอย่างหนักเช่นกัน
ผู้บริหารยูเอ็นดีอาร์อาร์กล่าวหารัฐบาลประเทศต่างๆ ว่าไม่ลงมือทำอย่างเพียงพอที่จะป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับพิบัติภัยทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นให้ดีกว่าเดิม
ยูเอ็นดีอาร์อาร์ระบุว่า การเตรียมความพร้อมที่ดีรวมถึงมีการจัดระบบเตือนภัยล่วงหน้า จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบผู้คนจำนวนมากหากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกยังคงไม่ได้รับการแก้ไข
ทั้งนี้ภัยธรรมชาติที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาคือการเกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 226,400 ราย ตามด้วยเหตุแผ่นดินไหวที่เฮติในปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตราว 222,000ราย
อย่างไรก็ดีรายงานดังกล่าวไม่ได้รวมเอาภัยทางชีวภาพและภัยซึ่งเกิดจากโรคต่างๆ อาทิ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 38 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่าล้านคนทั่วโลกในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเข้ามารวมไว้ด้วย