รีเซต

สธ.เริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิดเด็ก 6 เดือน ถึง 4 ปี ที่ รพ.พระนั่งเกล้า 12 ต.ค.นี้

สธ.เริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิดเด็ก 6 เดือน ถึง 4 ปี ที่ รพ.พระนั่งเกล้า 12 ต.ค.นี้
TNN ช่อง16
6 ตุลาคม 2565 ( 12:18 )
118
สธ.เริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิดเด็ก 6 เดือน ถึง 4 ปี ที่ รพ.พระนั่งเกล้า 12 ต.ค.นี้

เด็กเล็ก 6 เดือนถึง 4 ปี ยังคงมีความจำเป็นในการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดอาการเจ็บป่วยหนักและภาวะมิสซี สธ.ประชุมเตรียมฉีดเข็มแรกที่ รพ.พระนั่งเกล้า 12 ต.ค.นี้

วันนี้ (6 ต.ค.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด-19 วัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีแดงเข้ม ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ที่จะถึงไทยในวันที่ 7 ต.ค.นี้ และจะเริ่มฉีดเข็มแรกที่ รพ.พระนั่งเกล้า ในวันที่ 12 ต.ค.ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างอบรมเจ้าหน้าที่เรื่องแนวทางการให้วัคซีน เพื่อให้เกิดความราบรื่น

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่า การจัดฉีดวัคซีนดังกล่าวให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ได้มีการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จนถึงปัจจุบันสามารถฉีดไปได้แล้วรวมกว่า 143 ล้านโดส


ขณะที่ นพ.โอภาส กล่าวว่า นับตั้งแต่โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และสถานการณ์การแพร่ระบาดเบาบางลง ทำให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนน้อยลง แต่ย้ำว่า วัคซีนยังมีความสำคัญและจำเป็น จึงควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทุก 3-4 เดือน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง

สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กเล็กพบว่า มีมากกว่าเด็กโตถึง 3 เท่า การฉีดวัคซีนจึงมีความสำคัญจะช่วยลดอัตราป่วย การติดเชื้อ เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือโอกาสการเกิดมิสซีได้ 

โดยวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กเล็กมีความปลอดภัยสูงและสามารถรับร่วมกับวัคซีนพื้นฐานในเด็กเล็กอื่นๆได้ ซึ่งขั้นตอนความปลอดภัยในการรับวัคซีน สังเกตอาการ 30 นาที จากนั้นติดตามอาการเด็กอีก 1 เดือน  

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การฉีดวัคซีนโควิดในเด็กเล็ก 6 เดือนถึง 4 ปี ว่า ยังคงมีความจำเป็นถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะถูกปรับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง และมีแนวโน้มที่คลี่คลายขึ้น 

เนื่องจากในกลุ่มเด็กเล็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันการฉีดวัคซีนโควิดเป็นเสมือนตัวสร้างภูมิให้ร่างกายของเด็กสู้กับเชื้อหากติดเชื้อโควิด-19 ถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ก็ช่วยลดอาการเจ็บป่วยหนักและเสียชีวิตได้

โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวร่วมหรือโรคเรื้อรัง ควรที่จะเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ที่สำคัญคือช่วยลดภาวะมิสซี หรือภาวะอาการอักเสบทั่วร่างกายหลังติดเชื้อของเด็กได้ 


ส่วนข้อกังวลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนและผลข้างเคียง ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า จากผลการศึกษาและการฉีดวัคซีนในต่างประเทศ พบว่ามีประสิทธิภาพดีและผลข้างเคียงน้อย 

เนื่องจากปริมาณของวัคซีนที่ฉีดให้กับเด็กเล็กนั้นน้อยกว่าผู้ใหญ่ถึง 10 เท่า ซึ่งอยู่ที่ 3 ไมโครกรัม แต่ในเด็กเล็กต้องมีการฉีดวัคซีนโควิด 3 เข็ม ถึงจะมีภูมิในการป้องกันโรค


ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก และเด็กโตควรที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเช่นเดียวกับผู้ใหญ่เพื่อให้มีภูมิในร่างกายต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันการป้องกันโรคนั้นยังคงแนะนำผู้ปกครอง ให้คงมาตรการสาธารณสุข หากเด็กต้องมีการทำกิจกรรม หรือไปในสถานที่ปิด ถ่ายเทไม่สะดวก ยังคงแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยอยู่ แต่เด็กต่ำกว่า 2 ปีไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยเนื่องจากอาจมีผลต่อการหายใจ และออกซิเจนไม่เพียงพอ.


ภาพประกอบจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ภาพปกโดย แฟ้มภาพ AFP



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง