ดีอีเอส-กสทช.- 35 หน่วยงาน ระงับแพร่ข้อมูลผิดกม. ภายใน 24 ชม.
วันที่ 3 พ.ย. 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ จำนวน 35 ราย รับทราบ และชี้แจงประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565 เพื่อระงับเนื้อหาข้อมูลเท็จ ความมั่นคง ลามกอนาจาร หลังรับแจ้งการกระทำผิด
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญโดยสรุป ดังนี้
1. ปรับปรุงประกาศฉบับเดิม เมื่อปี 2560 ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองประชาชนมากยิ่งขึ้น และสร้างหลักประกันแก่ผู้ให้บริการ/สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย หากได้ปฏิบัติตามข้อร้องเรียนของประชาชนทั่วไป หรือผู้ใช้บริการ หรือตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศอย่างถูกต้องครบถ้วน จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิด (Safe Harbor) ของผู้ให้บริการ/สื่อสังคมออนไลน์ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ
2. ขั้นตอนการปฏิบัติของผู้ให้บริการ/สื่อสังคมออนไลน์ คือ ต้องมีช่องทางเพื่อรับแจ้งเนื้อหาที่เป็นความผิด ทั้งข้อมูลเท็จ บิดเบือน ปลอมแปลง กระทบต่อความมั่นคง หรือลามกอนาจาร จากประชาชนทั่วไป หรือผู้ใช้บริการ โดยจัดทำแบบฟอร์มข้อเรื่องร้องเรียน (Complaint Form) และเมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้ระงับหรือนำเนื้อหาที่ผิดกฎหมายออกจากระบบ หรือเมื่อได้รับคำสั่งให้ระงับหรือนำข้อมูลออกจากระบบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระงับหรือนำข้อมูลฯ ออกจากระบบของตน ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามลักษณะเนื้อหาของข้อมูล ดังนี้
- เนื้อหาที่เป็นเท็จ บิดเบือน ปลอม ตามมาตรา 14 (1) ให้ระงับ หรือนำข้อมูลออก ทันที
ไม่เกิน 7 วัน
- เนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง ตามมาตรา 14 (2) และ (3) ให้ระงับ นำข้อมูลออกทันที
แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
- เนื้อหาที่มีลักษณะลามก ตามมาตรา 14 (4) ให้ระงับ นำข้อมูลออกทันที แต่ไม่เกิน 3 วัน สำหรับ
กรณีภาพลามกอนาจารเด็ก ต้องระงับหรือนำข้อมูลออก ทันที แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
3. สำหรับประชาชนทั่วไป หรือผู้ใช้บริการต้องมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือต้องมีการลงบันทึกประจำวันไว้กับตำรวจก่อนดำเนินการแจ้งไปยังผู้ให้บริการ/สื่อสังคมออนไลน์
ทั้งนี้ ประกาศนี้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 25 ธันวาคม 2565) เพื่อให้ผู้ให้บริการ/สื่อสังคมออนไลน์ เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตาม
“ประกาศฉบับนี้ ออกมาเพื่อเร่งระงับข้อมูลผิด กฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขอเตือนว่า อย่าใช้ช่องทางนี้ ในการกลั่นแกล้งผู้อื่น หากดำเนินการ โดยเจตนาไม่สุจริต หรือเป็นเท็จ ผู้แจ้งอาจต้องรับผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญาได้” นายชัยวุฒิ กล่าว
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการกระทำความผิดเนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ การฉ้อโกงผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนผ่านระบบคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ช่วยลดภาระของประชาชนหรือผู้เสียหาย และตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดีอีเอส ได้ร่วมกับ 36 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
- คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
- ผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศไทย จำนวน 11 ราย อาทิ บริษัท โทรคมนาคมห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัทอินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
- ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดีย อาทิ บริษัท เมต้า แพล็ตฟอร์ม ไอเอ็นซี บริษัท กูเกิล แอลแอลซี และ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น
- ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จำนวน 18 ราย อาทิ บริษัท สามารถอินโฟเนต จำกัด บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางในการคุ้มครอง เยียวยาความเสียหายแก่ประชาชน และให้ประชาชนรู้เท่าทันการกระทำความผิดผ่านคอมพิวเตอร์และสังคมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ต้องดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลาย นำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยทันที แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินระยะเวลาสามวันนับแต่วันที่ได้รับคาสั่ง เป็นต้น
“ดีอีเอส ในฐานะกระทรวงฯ ที่ดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางด้านดิจิทัลของประเทศไทย มีบทบาทสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยปรับตัวก้าวสู่โลกดิจิทัล เรามีความจำเป็นอย่างมากที่จะดูแลความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์และสังคมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการเข้าถึงระบบออนไลน์ และโลกดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายชัยวุฒิ กล่าว
ภาพ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม