รีเซต

ดอลลาร์อ่อนดันเงินบาทแข็งค่า

ดอลลาร์อ่อนดันเงินบาทแข็งค่า
TNN ช่อง16
10 กุมภาพันธ์ 2564 ( 08:25 )
81

 นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  29.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 29.945 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง โดยผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่า การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟด อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะระดับราคา (Valuation) ของหุ้นซึ่งแพงเกินปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะแพงกว่าสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างพันธบัตรรัฐบาล หากบอนด์ยีลด์ระยะยาว เช่น  บอนด์ยีลด์ 10 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ

ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ ตลาดหุ้นโดยรวมย่อตัวลงเล็กน้อย  โดย ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ย่อลง 0.11% เช่นเดียวกับในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ปิดลบ 0.12% 

นอกจากนี้ ความผันผวนในฝั่งสินทรัพย์เสี่ยงได้หนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างพันธบัตรรัฐบาลทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเกือบ 2bps สู่ระดับ 1.16% 

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 90.4 จุด ส่วนเงินยูโรแข็งค่าขึ้นกว่า 0.5% แตะระดับ 1.21 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนสกุลเงินที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง ออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) ก็แข็งค่าขึ้นราว 0.4% แตะระดับ 0.774 ดอลลาร์ต่อ AUD หลังแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลกและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้ช่วยหนุนให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้นแตะระดับกว่า 61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

สำหรับวันนี้ ในส่วนข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม จะปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 1.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาน้ำมันและอาหาร จะทรงตัวที่ระดับ 1.5% เช่นกัน ทว่า แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปก็มีโอกาสเร่งตัวขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จากผลกระทบของราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้จากปีก่อนหน้าไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งภาพการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดการเงินได้ หากบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งสหรัฐฯ ก็เร่งตัวขึ้นจนทำให้ตลาดกังวลระดับราคา (Valuation) ของสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

ทั้งนี้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ออกมาแสดงความเห็นว่า การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและไม่ได้ส่งผลให้เฟดต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เพราะเฟดจะระวังและอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่า ตลาดจะรอฟังถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสบดี โดยเฉพาะประเด็น แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความกังวลของเฟดต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ และ โอกาสเฟดปรับเปลี่ยนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง  

อย่างไรก็ตาม  ตลาดจะยังคงติดตามความคืบหน้าการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับ การติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และการแจกจ่ายวัคซีน 

ในส่วนค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์  แต่เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็รอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดทุนก็เริ่มมีแรงขายบอนด์ออกมาบ้างจากนักลงทุนต่างชาติ

ถ้าหากนักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยด้วย ก็อาจจะช่วยประคองให้เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ หรือบวก-ลบ 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน   เช่น ตลาดปิดรับความเสี่ยง จนเกิดฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิ พร้อมกับ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นตามความต้องการหลุมหลบภัยชั่วคราว เป็นต้น  ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.85-30.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง