รีเซต

จีนจุดเทียนบนสถานีอวกาศเทียนกง แหวกแนวคิดทดลองบนอวกาศ

จีนจุดเทียนบนสถานีอวกาศเทียนกง แหวกแนวคิดทดลองบนอวกาศ
TNN ช่อง16
22 พฤษภาคม 2567 ( 16:58 )
21

ไฟ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่มีรากฐานมาตั้งแต่ยุคถือกำเนิดมนุษยชาติ และแม้ว่ากระบวนการการเกิดไฟจะเป็นเรื่องพื้นฐานบนโลก แต่บนอวกาศนั้นไม่ได้เป็นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ นักบินอวกาศชาวจีน จึงได้ทดลองจุดเทียนบนสถานีอวกาศเทียนกงของจีน เพื่อศึกษาการเผาไหม้ของไฟจากเทียนบนชั้นอวกาศเทียบกับการจุดเทียนบนโลก


ลักษณะเปลวไฟในโลกเทียบกับอวกาศ

โดยผลลัพธ์ที่ได้ก็คือเปลวไฟที่มีลักษณะเหมือนลูกบอลทรงกลม ต่างจากโลกที่เป็นเปลวไฟพวยพุ่งขึ้นไป ความแตกต่างนี้มีเบื้องหลังทางวิทยาศาสตร์ เพราะว่าปกติแล้วไฟจะเผาไหม้โดยการใช้แก๊สออกซิเจนในอากาศช่วยเผาไหม้ และสร้างกระแสลมร้อนรอบเปลวไฟ ในขณะที่อากาศส่วนอื่นที่มีอุณหภูมิเย็นกว่าจะเข้ามาแทนที่จากฐานของเปลวไฟ ทำให้เกิดกระแสลมเล็ก ๆ รอบเปลวไฟและทำให้ได้ภาพเปลวไฟในลักษณะเรียวยาวที่เราคุ้นเคย


ในขณะที่บนอวกาศ สภาพอากาศที่เบาบางและสภาพที่มีแรงโน้มถ่วงน้อย (microgravity) ทำให้กระแสลมรอบเปลวไฟไม่รุนแรงเท่าบนโลก ส่งผลให้เปลวไฟไม่สามารถมีลักษณะเปลวเป็นแนวตั้ง แต่เกิดการกระจายตัวในทุกทิศทางคล้ายกับลูกบอลทรงกลมแทน


การทดลองจุดไฟบนความเสี่ยงในอวกาศ

นอกจากนี้ การจุดไฟบนสถานีอวกาศยังมีความเสี่ยงต่อเหตุเพลิงไหม้สูง เนื่องจากวัสดุบนสถานีอวกาศติดไฟได้ง่าย โดยมีกรณีตัวอย่างในปี 1997 บนสถานีอวกาศเมียร์ (Mir space station) ของรัสเซีย ที่เกิดไฟไหม้จากไฟลัดวงจรจนลุกลามและสร้างควันพิษที่เป็นอันตรายต่อนักบินอวกาศ


ดังนั้น การทดลองบนสถานีอวกาศเทียนกง จึงมีการสร้างชุดอุปกรณ์ทดลองที่เรียกว่าซีอีอาร์ (CER: Combustion Experiment Pack) ขึ้นมาเพื่อทดลองภายใต้การจัดการความเสี่ยงแบบรัดกุม โดยการทดลองนี้เกิดขึ้นในปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปวิจัยเพื่อขยายความเข้าใจสภาวะบรรยากาศบนอวกาศต่อไป


ทั้งนี้ การทดลองจุดไฟบนอวกาศยังคงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งบทเรียนจากเหตุการณ์ไฟไหม้บนสถานีอวกาศเมียร์ได้ทำให้สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ได้ออกข้อกำหนดและมาตรการเพื่อความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก ๆ เช่น การกำหนดวัสดุที่จะนำไปติดตั้งบนสถานีทุกชิ้นจะต้องเป็นวัสดุทนไฟ หรือแม้แต่การทิ้งขยะที่ไวไฟก็ต้องมีการจัดการที่เข้มงวดเพื่อกำจัดต้นเหตุความเสี่ยงในการเกิดไฟบนสถานีอวกาศ



 




ข้อมูล The SignalSpace.com

ภาพ Space.com (Screenshot)



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง