นักวิจัยฟื้นฟูหนูอัมพาต ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง ด้วยการปลูกถ่ายไขสันหลัง
ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวนไม่น้อยที่ต้องลงเอยด้วยภาวะอัมพาต อันเนื่องมาจากอาการบาดเจ็บของไขสันหลังส่งผลให้ไม่สามารถใช้งานขาทั้งสองข้างได้อีกต่อไป แต่ล่าสุดมีหนทางรักษาที่อาจช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้กลับมาเดินได้อีกครั้งด้วยการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อไขสันหลังกลับเข้าไปในจุดที่เสียหาย
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Tel Aviv ได้พัฒนาวิธีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อไขสันหลัง ในหนูทดลองที่ประสบภาวะอัมพาตเรื้อรังเป็นครั้งแรก ซึ่งนักวิจัยเคลมว่าวิธีการนี้จะช่วยฟื้นฟูความสามารถในการเดินของหนูให้กลับคืนมาได้ โดยมีโอกาสสำเร็จสูงถึง 80%
เทคโนโลยีเบื้องหลังความสำเร็จของการทดลองนี้ คือกระบวนการเปลี่ยนย้อนกลับ (Reprogramming) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมในการสร้างเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่ต้องการ โดยใช้เซลล์จากส่วนใดของร่างกายก็ได้ สำหรับการทดลองนี้นักวิจัยนำเซลล์จากเนื้อเยื่อไขมันของมนุษย์ แล้วย้อนเวลาให้เซลล์เหล่านั้นกลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (Stem cell)
สเต็มเซลล์ที่เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนย้อนกลับ สามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ที่นักวิจัยต้องการได้ เพียงแค่เติมสารกระตุ้นให้พวกมันเจริญเติบโตไปในทิศทางที่ต้องการ นักวิจัยรวบรวมสเต็มเซลล์ที่ได้บรรจุลงในไฮโดรเจล (ทำหน้าที่เสมือนของเหลวห้อมล้อมเซลล์ เพื่อจำลองภาวะแวดล้อมดั้งเดิมที่เกิดขึ้นในร่างกาย) อุดมไปด้วยสารอาหารและสารชักนำต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้สเต็มเซลล์เจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ประสาทไขสันหลังที่สามารถส่งกระแสประสาทได้เหมือนเซลล์ปกติ
เมื่อได้เซลล์ประสาทไขสันหลังซึ่งบัดนี้ได้รวมตัวกันจนกลายเป็นเนื้อเยื่อเป็นที่เรียบร้อย จึงได้นำไปปลูกถ่ายในหนูทดลอง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีภาวะอัมพาตแบบฉับพลัน (Acute model) และกลุ่มที่มีภาวะอัมพาตมาเป็นระยะเวลานาน (Chronic model) ผลปรากฏว่าหนูทดลองที่ประสบภาวะอัมพาตแบบฉับพลัน (หมายถึงเพิ่งเป็นอัมพาตมาในระยะเวลาอันสั้น) ได้รับการฟื้นฟูจนกลับมาเดินได้ทุกตัว ในขณะที่หนูทดลองกลุ่มที่ประสบภาวะอัมพาตมาเป็นระยะเวลานาน ร้อยละ 80 สามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง
นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกของมนุษยชาติที่สามารถพิชิตโรคอันโหดร้ายนี้ได้ นักวิจัยถึงกับกล่าวว่าความสำเร็จนี้อาจมอบ "ชีวิตใหม่" ให้กับผู้ป่วยอัมพาตที่ไม่สามารถเดินได้มากเป็นระยะเวลานาน ซึ่งแน่นอนว่ามันมีโอกาสที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับมนุษย์และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหนูทดลอง ถึงกระนั้นนักวิจัยยังคงต้องพัฒนาและศึกษาต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้กระบวนการนี้นำมาใช้กับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering