รีเซต

ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ - ไทยยังไม่สายเกินไปสำหรับ “ควอนตัม” แค่ต้องพัฒนาคนให้ทัน ชี้โลจิสติกส์ได้รับผลประโยชน์แน่นอน

ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ - ไทยยังไม่สายเกินไปสำหรับ “ควอนตัม” แค่ต้องพัฒนาคนให้ทัน ชี้โลจิสติกส์ได้รับผลประโยชน์แน่นอน
TNN ช่อง16
2 กันยายน 2565 ( 02:35 )
278

เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Technology) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงทั่วโลกในทศวรรษที่ผ่านมา รวมไปถึงประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่คำว่า “ควอนตัม” นั้นถูกนำไปใช้ในหลายบริบทและวงการ บ้างก็ถูก บ้างก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังนั้น ภายในงาน Techsauce Global Summit 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 - 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ร่วมงานจึงสนใจการขึ้นบรรยายของ ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ผู้ก่อตั้ง QTFT (Quantum Technology Foundation (Thailand)) ถึงทิศทางการเติบโตและการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย รวมถึง TNN Tech ด้วยเช่นกัน


เทคโนโลยีควอนตัมคือการนำความรู้ฟิสิกส์มาประยุกต์ใช้


คำถามที่ถูกถามมากที่สุดคำถามหนึ่งสำหรับคนทั่วไป ดร.จิรวัฒน์ ให้คำอธิบายว่าควอนตัม คือ สาขาวิชาหนึ่งของฟิสิกส์ เป็นการศึกษาสิ่งที่เล็กและเย็น เล็กในระดับ 1 ส่วน 20 ของความกว้างเส้นผม ที่อนุภาคซึ่งเล็กขนาดนั้น จะพบปรากฏการณ์ที่ประหลาดซึ่งไม่รู้ที่มา แต่เกิดขึ้นจริง เช่น การทะลุข้ามสิ่งกีดขวางได้ การสื่อสารระหว่างอะตอม 2 ตัว ที่อยู่ห่างไกลกัน ดังนั้น เทคโนโลยีควอนตัมคือการนำเอาคุณสมบัติต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร การประมวลผล และการทำระบบตรวจจับ (Sensor) ต่าง ๆ


ดร.จิรวัฒน์ มองว่าการใช้งานเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทยนั้นเป็นไปได้และเกิดขึ้นจริงแล้ว โดยเริ่มจากภาคบริการการเงิน โดยดร.จิรวัฒน์ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้ในการประมวลผลเพื่อการบริหารจัดการหนี้เสียของบริษัทการเงินให้ลดลง การนำระบบการคำนวณเชิงควอนตัม (Quantum Computing) เข้าไปสู่การจัดสรรเที่ยวบินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่ประยุกต์ใช้กับการจัดการภาคโลจิสติกส์ให้ลดปริมาณการใช้รถและน้ำมัน แต่ยังคงสามารถส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการใช้งานเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย


ไทยไม่ได้ตกขบวนควอนตัม แต่ต้องการคนเพื่อศึกษาและเชื่อมโยง


ดร.จิรวัฒน์มองว่าการศึกษาด้านควอนตัมในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นช้าไปพอสมควร เมื่อเทียบกันกับการศึกษาในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ศึกษามามากกว่า 10 ปี (ดร.จิรวัฒน์จบการศึกษาปริญญาเอกด้านควอนตัมฟิสิกส์ที่สิงคโปร์) ประเทศไทยนั้นถึงแม้ว่าจะได้ทุนและการดำเนินงานจากกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มาช่วยผลักดันในช่วง 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นรองในเรื่องของการวิจัยภาคการศึกษาอยู่ดี อย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่าคือการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอดในเชิงพาณิชย์


ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้การนำมาใช้งานในไทยนั้นยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเกิดจากขาดการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ดร.จิรวัฒน์มองว่าการจัดการให้มีการพบปะพูดคุยถึงทิศทางการค้นคว้าวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจะช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อยอดทางเทคโนโลยีควอนตัม และในความเป็นจริง ผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านควอนตัมทั่วโลกซึ่งมักจบปริญญาเอกเป็นส่วนใหญ่ล้วนกำลังเป็นที่ต้องการ ไม่ว่าจากภาคการศึกษา สถาบันต่าง ๆ ตลอดจนธุรกิจทั้งรายใหญ่และสตาร์ตอัป 


ดังนั้น ประเทศไทยยังไม่ได้ตกขบวนเทคโนโลยีควอนตัมแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องมีการเชื่อมโยงการวิจัยและการใช้งานเข้าหากันด้วยผู้ที่มีความสามารถจากทั้งสองฝั่งที่เห็นศักยภาพของอีกฝ่าย ดร.จิรวัฒน์ยังเชื่ออีกด้วยว่าประเทศไทยนอกจากจะไม่ได้ตามหลังประเทศอื่น ๆ ในด้านเทคโนโลยีควอนตัม แต่ยังนำหน้าประเทศอื่น ๆ ในหลากหลายด้านอีกด้วย โดยยกตัวอย่างการใช้งานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งด้านการเงิน การบิน โลจิสติกส์ ที่เกิดขึ้นจริงและมีใช้งานแล้วเป็นที่เรียบร้อย 


ควอนตัม แปลว่าดีขึ้น


ดร.จิรวัฒน์เชิญชวนให้คนนึกถึงควอนตัมในความหมายว่าดีขึ้น เพราะเทคโนโลยีควอนตัมจะเข้ามาทำให้ระบบการทำงานในยุคเดิมที่ทำงานแยกกันหลายกลุ่มย่อย แต่รับผิดชอบในสิ่งที่คล้ายคลึงกันหรือสิ่งเดียวกันนั้นหายไป และสร้างระบบการทำงานที่อิสระแต่สอดรับให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น “สรุปง่าย ๆ ว่าอะไรที่มันล้ำ ๆ แล้วก็ทำให้ประสิทธิภาพมันดีขึ้น” ดร.จิรวัฒน์กล่าว


เทคโนโลยีควอนตัมเป็นสิ่งที่บริษัทในต่างประเทศให้ความสนใจและนำมาใช้อย่างจริงและเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทย ซึ่งดร.จิรวัฒน์มีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่าบริษัทในไทยแม้ว่าจะยังไม่ได้นำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้ แต่ประเทศไทยมีศักยภาพและภาคเอกชนเองก็มีการแข่งขันที่สูงจากทั้งในและต่างประเทศ จึงมีความพร้อมที่จะปรับตัวและเปลี่ยนผ่านบริษัทตลอดจนอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ยุคควอนตัมได้เช่นกัน 


เทคโนโลยีควอนตัมมาแน่ และมาเร็วกว่าที่หลายคนคิด


หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทยอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีไปจนถึง 10 ปี ในการทำให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่ดร.จิรวัฒน์ไม่เชื่อเช่นนั้น โดยยังสำทับอีกด้วยว่าการพูดถึงคำว่าควอนตัมไม่ได้มีแค่เทคโนโลยีควอนตัม แต่ยังมีเทคโนโลยีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum Inspired Technology) ที่เลียนแบบลักษณะการทำงานของเทคโนโลยีควอนตัม ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก แม้ว่าจะมีความเร็วในการประวมวลผลหรือประสิทธิภาพเท่ากันต้นฉบับก็ตาม และเทคโนโลยีที่ว่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้ว


แม้ว่าเทคโนโลยีควอนตัมโดยตรงจะยังไม่พร้อมใช้งานในไทย ณ ตอนนี้ แต่ดร.จิรวัฒน์นั้นมองว่าความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีควอนตัมก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานด้วยเช่นกัน บางอุตสาหกรรมจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 - 3 ปี แต่บางอุตสาหกรรมอาจจะใช้เวลามากกว่านั้น นอกจากนี้ยังมองว่า เมื่อยุคของการใช้งานเทคโนโลยีควอนตัมมาถึง ภาคโลจิสติกส์จะเป็นอุตสาหกรรมแรกที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง เพราะโลจิสติกส์หรือการขนส่งในไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เน้นการใช้รถยนต์เป็นหลัก การนำระบบประมวลผลแบบใหม่มาใช้จะลดต้นทุนและเปิดโอกาสให้ SME เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่มีระยะทางไกลขึ้นแต่มีต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้


ควอนตัมและวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด


ควอนตัมฟิสิกส์ เคยเป็นการศึกษาทฤษฎีแต่ไม่มีการนำไปใช้งาน จนมีคนปรามาสว่าเป็น “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” แต่ดร.จิรวัฒน์ให้ความเห็นว่าเป็นมุมมองที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะคำถามที่สำคัญอยู่ที่ว่างานวิจัยชิ้นนั้นมีคุณภาพหรือไม่มากกว่า หากมีคุณภาพ ก็จะสร้างทั้งชื่อเสียงและความเชื่อมั่นต่อนักวิจัยไทย ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทยอีกด้วย “ควอนตัมเป็นคำที่ดูแล้ววิทยาศาสตร์ เนิร์ด ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นคำที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันและก็การแข่งขันในภาคธุรกิจสูงในอนาคต” ดร.จิรวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายกับ TNN Tech




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง