รีเซต

‘บล.กสิกร’ ปักธงดัชนีปี 64 ไปได้ไกลสุดแถวระดับ 1,510 จุด

‘บล.กสิกร’ ปักธงดัชนีปี 64 ไปได้ไกลสุดแถวระดับ 1,510 จุด
มติชน
11 มกราคม 2564 ( 09:06 )
46
‘บล.กสิกร’ ปักธงดัชนีปี 64 ไปได้ไกลสุดแถวระดับ 1,510 จุด

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ได้ปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยต่างประเทศ คือ พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากได้ทั้งในสภาสูงและสภาล่างของสหรัฐฯ (Blue Wave) หรือบลูเวฟ หลังจากเห็นผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในรัฐจอร์เจียของสหรัฐอเมริกา ทำให้สภาสูงมีเสียงในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ซึ่งจะทำให้พรรคเดโมแครต คุมเสียงในสภานี้ได้ จึงคาดการณ์ว่าผลการเลือกตั้งดังกล่าว จะทำให้นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ อาจสามารถออกมาตรการทางการคลังครั้งใหญ่ออกมาได้ง่ายขึ้น อาทิ มาตรการกระตุ้นโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณสุข รวมถึงนโยบายพลังงานสีเขียวต่างๆ ซึ่งจะต้องปรับเพิ่มภาษีมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มเติม ทำให้เห็นภาพตลาดหุ้นไทยปิดบวกได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงคาดการณ์ว่า ทั้งปี 2564 ดัชนีหุ้นไทยจะทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,510 จุด

 

นายกวี กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเหล่านี้ เชื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจ และสร้างบรรยากาศที่เปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้นทั่วโลก จึงคาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่าลงจากประเด็นการขาดดุลแฝด (twin deficit) หรือขาดดุลการค้าและการคลังในเวลาเดียวกันในสหรัฐฯ โดยสถานการณ์เช่นนี้จะบีบให้เงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯ สืบเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนลง และการปรับเพิ่มอัตราภาษีนิติบุคคลในสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อนำเงินมาอุดสภาวะขาดดุลดังกล่าว นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ก็อาจไปกระตุ้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่มีค่าสหสัมพันธ์ติดลบกับเงินดอลลาร์ฯ ทำให้กลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย มีสถานะที่จะได้ประโยชน์ จากพัฒนาการดังกล่าวสืบเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น

 

นายกวี กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่มีสถานะจะได้ประโยชน์เชิงบวกและเชิงลบ เนื่องจากเชื่อว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยมูลค่าขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ จะทำห้เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นมาก และนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้กลุ่มที่คาดว่าจะได้รัลผลกระทบเชิงลบ คือ 1.กลุ่มการเงิน จากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 2.กลุ่มโรงไฟฟ้า 3.กลุ่มที่มีกิจการในสหรัฐฯ อาทิ ไอวีแอล เพราะมีสัดส่วนกำไรมาจากสหรัฐฯ 30% 4.กลุ่มบริษัทที่ไม่สามารถส่งต่อภาระต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ไปยังกลุ่มลูกค้าได้ ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ คือ 1.กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ในกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง และขนส่ง ด้วยแรงหนุนจากเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงและอุปสงค์ที่สูงขึ้น จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ 2.กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ จากการเติบโตของเศรษฐกิจ และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) 3.กลุ่มประกัน เพราะคาดว่า บอนด์ยิลด์ที่สูงขึ้นจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากขึ้น และสามารถตั้งสำรองน้อยลงได้ และ 4.กลุ่มพลังงานทดแทน เพราะคาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายพลังงานสีเขียวผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง