รีเซต

ความสัมพันธ์ ไทย - สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ภูมิหลังและสถานะปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ ไทย - สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)  ภูมิหลังและสถานะปัจจุบัน
TrueID
7 มิถุนายน 2564 ( 16:43 )
1.2K

ไทยมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มานานกว่า 30 ปี โดยประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากยูเออีเป็นอันดับหนึ่งจากกลุ่มประเทศตะวันออกลาง วันนี้เรามาดูความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความเป็นมาอย่างไร

 

 

ภาพโดย Michael Schwinge จาก Pixabay 

 

 

กว่าจะมาเป็น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือที่อาจคุ้นกันในชื่อที่สั้นกว่าว่า UAE (ตัวย่อของชื่อภาษาอังกฤษ United Arab Emirates) เป็นประเทศที่เกิดจากการรวมตัวของรัฐต่าง ๆ 7 รัฐ ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2514 จึงนับว่ามีอายุเพียง 40 ปีเศษ แต่ในเวลาเพียงไม่ถึง 2 ชั่วอายุคนนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้พัฒนาความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยส่วนสำคัญมาจากรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมันดิบ ควบคู่ไปกับการเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค ยังไม่รวมถึงการเงินและการขนส่งทางอากาศ ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

ภาพโดย Sonnenuntergang จาก Pixabay 

 

 

 

ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศในตะวันออกกลาง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอ่าวอาหรับ ทิศเหนือติดกับอ่าวเปอร์เซีย ทิศตะวันตกและใต้ติดกับประเทศซาอุดีอาระเบีย และทิศตะวันออกติดกับโอมาน มีพื้นที่ประเทศรวมประมาณ 83,600 ตารางกิโลเมตร รัฐอาบูดาบีเป็นรัฐที่มีพื้นที่มากที่สุด (ประมาณ 80% ของทั้งประเทศ) และเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือ กรุงอาบูดาบี สภาพภูมิอากาศเป็นแบบทะเลทราย ฤดูร้อน (พฤษภาคม–กันยายน) อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 32-48 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว (พฤศจิกายน-มีนาคม) อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส

 

ประชากร

 

ในปี 2556 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีประชากรประมาณ 9.2 ล้านคน เป็นชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพียง 1 ล้านคน ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ ส่วนมากเป็นแรงงานจากอินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และจากกลุ่มประเทศอาหรับด้วยกัน รวมทั้งมีคนไทยประมาณ 10,000 คน

 

การเมืองการปกครอง

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีโครงสร้างเป็นสหพันธรัฐ ประกอบด้วยรัฐ 7 รัฐ ได้แก่ อาบูดาบี (Abu Dhabi) ดูไบ (Dubai) ชาร์จาห์ (Sharjah) อัจมาน (Ajman) ราสอัลไคมาห์ (Ras al-Khaimah) ฟูไจราห์ (Fujairah) และอุมม์ อัล ไคเวน (Umm al-Quwain) ปกครองโดยประธานาธิบดีซึ่งกำหนดให้เจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบีดำรงตำแหน่ง และให้เจ้าผู้ครองรัฐดูไบเป็นรองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี การปกครองมีลักษณะเป็นราชาธิปไตย

 

ภาษา

 

ภาษาราชการที่ใช้ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือ ภาษาอาหรับ โดยมีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลายทั่วไป

 

ศาสนา

 

ประชาชนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 96 (สุหนี่ร้อยละ 80 ชีอะฮฺ ร้อยละ 16) ฮินดู คริสต์ และอื่น ๆ ร้อยละ 4

 

สกุลเงิน

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใช้เงินสกุล “ดีแรห์ม” มีรหัสสกุลเงิน คือ AED (ร้านค้าบางแห่งใช้ Dhs) โดยผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) ในอัตรา 1 USD = 3.6725 AED

 

 

 

อาบุดาบี / CC BY 3.0

 

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

 

 ๑.   ความสัมพันธ์ทั่วไป

 

ตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๘  (ครบรอบ ๔๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๕๘) ประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและราบรื่น โดยประเทศไทยเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๕ และเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี  เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๗  ปัจจุบัน นายวราวุธ ภู่อภิญญา ได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี (เดินทางมารับตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) 

 

 

แผ่นที่ / CC BY-SA 3.0 de

 

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๑ โดยมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นายซาอีฟ อับดุลลา มูฮัมหมัด คัลฟาน อัลชัมซี  (Saif Abdulla Mohammed Khalfan Al Shamisi) (ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)

 

๑.๑ การเมือง

 

ประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และความร่วมมือที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น โดยปัจจุบันทั้งสองฝ่ายมีกลไกดำเนินความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี คือ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ (Joint Commission Meeting on Economic, Trade and Technical Cooperation-JC) ในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้จัดการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่กรุงเทพฯ โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย และ Sheikh Abdulla Bin Zayed Al Nahyan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศยูเออีเป็นประธานร่วม

 

การแลกเปลี่ยนการเยือน การเยือนล่าสุดของฝ่ายไทย พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ส่วนฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สมาชิกราชวงศ์และผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์และส่วนตัวเป็นระยะ ล่าสุด เชคคา โบดัว บินต์ ซุลตาน อัล กาซิมี (Sheikha Bodour bint Sultan Al Qasimi) ธิดาเจ้าผู้ครองรัฐชาร์จาห์ ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ เพื่อร่วมงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ และการเสด็จเยือนของ Sheikh Abdulla Bin Zayed Al Nahyan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ไทย-ยูเออี ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ และการเยือนประเทศไทยเพื่อหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยในปี ๒๕๖๐

 

การสนับสนุนบทบาทระหว่างกันในเวทีระหว่างประเทศ ประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  มีความสัมพันธ์ที่ดีในการแลกเสียงระหว่างกัน ที่ผ่านมา ได้มีการตกลงแลกเสียงระหว่างการสมัครตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของประเทศไทย วาระปี ๒๕๖๐ –  ๒๕๖๑ กับการสมัครเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมโลกที่ดูไบ (Dubai Expo ๒๐๒๐) ซึ่งดูไบได้รับเลือก ล่าสุด สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ให้การสนับสนุนการลงสมัครรับเลือกตั้งของไทยในตำแหน่ง IMO Council วาระ ค.ศ. ๒๐๑๗-๒๐๑๙ ของไทย

 

๑.๒   เศรษฐกิจ

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าอันดับ ๑ ของประเทศไทยในตะวันออกกลาง โดยในปี ๒๕๕๙ มีมูลค่าการค้ารวม ๘.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยส่งออก ๒.๘๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และนำเข้า ๕.๙๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประเทศไทยขาดดุลการค้า ๓.๑๑  ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับปี ๒๕๖๐ – ข้อมูล มค.-ตค. ๒๕๖๐: มีมูลค่าการค้ารวม ๘.๕๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยส่งออก ๒,๓๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และนำเข้า ๖.๒๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประเทศไทยขาดดุลการค้า ๓,๙๑๕  ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณี ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนสินค้านำเข้าของประเทศไทยจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์

 

นอกจากนั้น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันอันดับ ๑ ของประเทศไทยในโลก ในปี ๒๕๕๙ ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากยูเออีเป็นมูลค่า ๔,๖๘๓.๘๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  คิดเป็นร้อยละ ๓๐.๖ ของปริมาณน้ำมันที่ประเทศไทยนำเข้าทั้งหมด  (รองลงมาเป็นซาอุดีอาระเบีย ๒๓.๖% และมาเลเซีย ๙.๒%) ในขณะที่ไทยเป็นผู้ซื้อน้ำมันดิบจากยูเออีเป็นอันดับที่สอง รองจากญี่ปุ่น โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาขน) นำเข้าจาก Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) ภายใต้สัญญาการซื้อขายน้ำมันโดยไม่ผ่านคนกลางตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๔

 

๑.๓   การลงทุน

 

ภาคเอกชนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการลงทุนในประเทศไทยในหลายด้าน อาทิ

 

การลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงการสาธรสแควร์ ของกลุ่ม Istithmar Hotel FZE ของรัฐดูไบ และ Islamic Hotel Chain ของ Al Mulla Group รัฐดูไบ การลงทุนในการประกอบการท่าเทียบเรือของกลุ่มดูไบ เวิลด์ (Dubai World) ผ่านบริษัทแหลมฉบังอินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด นอกจากนี้ ประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดด้านพลังงาน โดยในปัจจุบัน บริษัท Mubadala Petroleum ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท Tap Energy Pty Ltd. ของออสเตรเลีย และบริษัท Northern Gulf Petroleum Pte. Ltd. ของประเทศไทย ได้รับสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ๓ แหล่ง (แหล่งจัสมิน แหล่งมโนราห์ และแหล่งนงเยาว์) โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนประมาณ ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ในส่วนของประเทศไทยบริษัทเครือ ปตท. และบริษัทสยามซีเมนต์ (SCG) ได้ตั้งสำนักงานใน รัฐดูไบ นอกจากนี้ เครือโรงแรมดุสิตธานี (Dusit Thani Abu Dhabi, Dusit Thani Dubai, DusitD๒ Kenz Hotel, Dubai) และเครือโรงแรมอนันตาราได้เข้าไปดำเนินการด้านการบริหารจัดการโรงแรม

 

เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ ผู้ประกอบการไทยในยูเออีได้จัดตั้งสภาธุรกิจไทย (Thai Business Council) เพื่อเป็นกลไกให้ข้อมูลข่าวสารและสนับสนุนการประกอบการและการรวมตัวกันของภาคเอกชนไทย

 

เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒ บริษัท ปตท. สผ. ได้ลงนามในสัมปทานการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงออฟชอร์ 1 (Offshore 1) และแปลงออฟชอร์ 2 (Offshore 2) ร่วมกับพันธมิตรใหม่ บริษัท อีเอ็นไอ (Eni) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของอิตาลี จากการที่ยูเออีได้เปิดประมูลสัมปทานเป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ ปตท.สผ.ได้เข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงแห่งหนึ่งของโลก 

 

๑.๔   การท่องเที่ยว

 

ในปี ๒๕๖๑ มีนักท่องเที่ยวจากยูเออีเดินทางมาประเทศไทย รวมจำนวนประมาณ ๑๐๘,๐๐๐ คน (สถิติปี ๒๕๖๐ จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ คน) โดยนักท่องเที่ยวจากยูเออี กว่าร้อยละ ๖๐ นิยมเดินทางมาตรวจสุขภาพและรับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย

 

ขณะที่เมืองดูไบเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งในตะวันออกกลาง โดยมีคนไทยเข้ามาท่องเที่ยวในยูเออีประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน เมื่อปี ๒๕๖๑

 

การบินไทยมีเที่ยวบินตรง กรุงเทพ – ดูไบ ๗ เที่ยว/สัปดาห์ สายการบิน Etihad Airways แห่งรัฐอาบูดาบี มีเที่ยวบินตรงอาบูดาบี – กรุงเทพ ๒๑ เที่ยว/สัปดาห์ และอาบูดาบี-ภูเก็ต ๗ เที่ยว/สัปดาห์ และสายการบิน Emirates แห่งรัฐดูไบ มีเที่ยวบินตรงดูไบ-กรุงเทพ ๓๕ เที่ยว/สัปดาห์ และดูไบ – ภูเก็ต ๗ เที่ยว/สัปดาห์

 

๑.๕   ชุมชนไทย

 

ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ในยูเออีประมาณ ๗,๐๐๐ คน (ข้อมูลสถานะ ต.ค. ๒๕๖๐) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือและทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้าง ธุรกิจบริการ  (นวด ผู้ประกอบอาหาร ฯลฯ)   

 

การแต่งกายของผู้ชาย / CC BY 2.0

 

      

๒.   ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย

 

ประเทศไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความตกลงและบันทึกความเข้าใจที่ลงนามแล้ว ๗ ฉบับ  ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน การยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน การร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ เป็นต้น

 

ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ , GlobThailand

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง