สหรัฐฯเล็งประกาศ อัตราภาษีราย "ภูมิภาค" หลังครบเส้นตาย 90 วัน

สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 พฤษภาคม 2568 ) ว่า สหรัฐฯ ตั้งเป้าบรรลุข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าสำคัญ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณา"เปลี่ยนไปใช้อัตราภาษีนำเข้าแบบรายภูมิภาค" สำหรับหลายประเทศ หลังกำหนดเวลาเจรจาการค้า 90 วัน กำลังจะหมดลง
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าว CNN ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังตั้งเป้าที่จะทำข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าสำคัญบางประเทศสำหรับการเก็บภาษีแบบตอบโต้ (reciprocal tariffs) ที่ประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา ขณะที่คาดว่าจะมีการทำข้อตกลงระดับภูมิภาคจำนวนมาก เช่น อัตราภาษีสำหรับอเมริกากลาง อัตราสำหรับภูมิภาคนี้ของแอฟริกา แต่สิ่งที่เรากำลังมุ่งเน้นตอนนี้ คือ ความสัมพันธ์ทางการค้ากับ 18 ประเทศที่สำคัญ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากทรัมป์เผยเมื่อวันศุกร์ (16 พฤษภาคม 2568 ) ว่า รัฐบาลเตรียมส่งหนังสือถึงหลายประเทศภายใน 2–3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อแจ้งอัตราภาษีที่แต่ละประเทศต้องชำระหากต้องการทำการค้ากับสหรัฐฯ
ภายใต้นโยบายภาษีแบบตอบโต้ ทรัมป์ได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% กับแทบทุกประเทศทั่วโลก และเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในอัตราที่สูงขึ้นกับประเทศคู่ค้าสำคัญประมาณ 60 ประเทศที่มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ระงับการบังคับใช้ภาษีเฉพาะประเทศไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 90 วันจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2568 เพื่อเปิดทางให้มีการเจรจา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมมากนัก
ทรัมป์กล่าวว่า มีประเทศต่าง ๆ กว่า 150 ประเทศแสดงความประสงค์เจรจากับสหรัฐฯ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด เช่นว่าประเทศใดบ้างที่จะได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ประเทศที่น่าจะอยู่ในกลุ่มคู่ค้าสำคัญ 18 ประเทศนั้น ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งจัดการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว ตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศพักการจัดเก็บภาษีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568