รีเซต

ลูกปลาหมึก-หมีน้ำ รวม 2,130 ตัว เดินทางถึงสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อทดลองต่อแล้ว

ลูกปลาหมึก-หมีน้ำ รวม 2,130 ตัว เดินทางถึงสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อทดลองต่อแล้ว
TNN World
7 มิถุนายน 2564 ( 09:41 )
346

NASA: ยานอวกาศ SpaceX Dragon เดินทางถึงสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS แล้ว พร้อมกับเสบียงคลังชุดล่าสุดที่ NASA ส่งขึ้นไป โดยมีลูกปลาหมึกที่เพิ่งฟักเป็นตัวออกมา และหมีน้ำ หรือทาร์ดิเกรด (Tardigrade) สัตว์ตัวจิ๋ว 8 ขาที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก เดินทางขึ้นไปด้วย เพื่อร่วมการทดลองผลกระทบของการเดินทางท่องอวกาศของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก

 

 


ยานอวกาศ SpaceX Dragon ที่ทำหน้าที่จัดส่งเสบียงจากโลกขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เดินทางออกจากศูนย์อวกาศเคนเนดี ในรัฐฟลอริดา เมื่อวันพฤหัสบดี (3 มิถุนายน) โดยมีภารกิจนำส่งลูกปลาหมึกและสัตว์ขนาดเล็ก ไปพร้อมกับอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ แผงโซล่าเซลล์ และเสบียงอื่น ๆ ที่มีน้ำหนักรวมกันกว่า 3,300 กิโลกรัม

 

 


ปลาหมึกที่ร่วมเดินทางขั้นไปในอวกาศครั้งนี้ คือหมึกล่องหน Bobtail Squid หรือเรียกว่าหมึกหูช้าง หมึกการ์ตูน หรือหมึกกระเป๋า หมึกจิ๋วที่มีความสามารถพิเศษในการพรางตัวชั้นเยี่ยมจำนวน 130 ตัว และทาร์ดิเกรด 2,000 ตัว 

 

 


พวกมันได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความเข้าใจเรื่องสภาวะไร้น้ำหนักในสัตว์ – ปฏิกิริยาของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก หรือ UMAMI (Understanding of Microgravity on Animal – Microbe Interactions : UMAMI) ที่มีเป้าหมายที่จะตรวจสอบผลกระทบของการท่องอวกาศต่อปฏิสัมพันธ์ทางเคมีและโมเลกุล ระหว่างจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และสิ่งมีชีวิตที่จุลินทรีย์ดังกล่าวอาศัยกินอยู่ เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของแรงโน้มถ่วงต่อการกำหนดการมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวให้ดีขึ้น

 

 


เจมี ฟอสเตอร์ นักจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งฟลอริดา บอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวที่องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NASA เมื่อต้นสัปดาห์ว่า ทั้งมนุษย์และสัตว์ ต่างมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อาศัยกินอยู่ และช่วยให้ร่างกายทำหน้าที่พื้นฐานต่าง ๆ เช่น ระบบย่อยอาหาร ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิต

 

 


ฟอสเตอร์ กล่าวว่า นักบินอวกาศที่ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ในอวกาศมักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของตนเป็นประจำ และปัญหานั้นนับว่าเป็นอันตรายพอควร หากไม่สามารถพบแพทย์หรือการรักษาได้ทันท่วงที

 

 


ฟอสเตอร์ ยังอธิบายด้วยว่า ปลาหมึกนั้นมีระบบภูมิคุ้มกันคล้ายกับของมนุษย์ แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างธรรมดากว่า แต่นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้การศึกษาได้ง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง