อินเดียเตรียมลงจอดดวงจันทร์หลังยาน Chandrayaan-3 เข้าสู่วงโคจรแล้ว
วันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ยานอวกาศจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ของอินเดียเริ่มกระบวนการเผาไหม้เครื่องยนต์เพื่อเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 09.30 น. ตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยองค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) โดยยานอวกาศลำนี้เตรียมลงจอดขั้วใต้ของดวงจันทร์ในช่วงระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคมนี้
ก่อนหน้านี้ยานอวกาศจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ออกเดินทางขึ้นจากโลกในวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยใช้จรวดขนส่งอวกาศ LVM-3 จากศูนย์อวกาศ Satish Dhawan บริเวณชายฝั่งทิศตะวันออกของอินเดีย ก่อนโคจรรอบโลกประมาณ 5 รอบ และเริ่มขั้นตอนที่เรียกว่า Trans Lunar Insertion (TLI) หรือการเร่งความเร็วของยานเพื่อหนีจากแรงโน้มถ่วงของโลก ด้วยความเร็วประมาณ 11.2 กิโลเมตรต่อวินาที และเดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์
สำหรับภารกิจการนำยานอวกาศจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ลงจอดบนดวงจันทร์ หากทำได้สำเร็จจะทำให้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ของโลกที่สามารถนำยานอวกาศแบบไร้มนุษย์อวกาศลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ ถัดจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน
การออกแบบและพัฒนายานอวกาศจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) โครงสร้างแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เชื่อมต่อกันประกอบด้วย ยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์วิกรม (Vikram) ยานรถหุ่นยนต์สำรวจโรเวอร์ปรายัน (Pragyan) และยานวงโคจรจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3 Orbiter) โดยยานอวกาศมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ การลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ การปล่อยรถหุ่นยนต์สำรวจโรเวอร์วิ่งบนดวงจันทร์ และการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อส่งข้อมูลกลับมายังโลก
ภารกิจยานอวกาศจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) นับเป็นความพยายามลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ของอินเดีย หลังจากภารกิจยานอวกาศจันทรายาน-2 (Chandrayaan-2) ในช่วงปี 2019 ล้มเหลวเนื่องจากปัญหาความผิดพลาดของซอฟต์แวร์ในระหว่างการลงจอดบนดวงจันทร์ โดยทีมงานได้นำข้อผิดพลาดดังกล่าวมาทำการศึกษาและแก้ไขระบบใหม่ที่ใช้ในยานอวกาศจันทรายาน-3
ที่มาของรูปภาพ ISRO