ความสัมพันธ์ จีน -ไต้หวัน - สหรัฐ มีผลอย่างไรต่อการค้า-การลงทุนโลก
หลังการเดินทางเยือน"ไต้หวัน"ของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้สร้างความกังวลเกิดขึ้นในหลายมุมมอง แน่นอนว่าผลในเชิงจิตวิทยาในตลาดการค้า การลงทุน ทั่วโลก เพราะทั้งจีน และสหรัฐ ต่างเป็นประเทศมหาอำนาจที่หากจะต้องงัดข้อกัน ย่อมสะเทือนไปยังทั่วโลก
ภาพจาก : AFP
ความเสี่ยงจากการเมืองของจีน-สหรัฐต่อการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส (ASPS) ได้วิเคราะห์ไว้ว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ใน 2 แง่มุม คือ มุมของความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะเกิดการใช้กำลังระหว่างประเทศ และในมุมของการค้าระหว่างประเทศ อย่างน้อยที่สุดทำให้ความคาดหวังว่ากำแพงภาษีระหว่าง สหรัฐ-จีน (Trade War) ที่ก่อนหน้านี้มีลุ้นว่า จะผ่อนคลาย อาจต้องล้มเลิกไป
ส่วนด้านผลกระทบต่อ SET Index ในช่วงที่มีการประกาศกำแพงภาษี แต่ละรอบพบว่ามีการปรับลดลงเฉลี่ย 7-10%
การที่ เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางถึงไต้หวันและกล่าวว่าเราเคารพในคํามั่น สัญญาของเราต่อระบอบประชาธิปไตย เพื่อย้ำว่าเราต้องเคารพเสรีภาพและประชาธิปไตย ของไต้หวันทั้งหมด ขณะที่จีนตอบโต้ทันทีที่เพโลซีถึงไต้หวัน โดยประกาศซ้อมรบทางทหาร ในวันที่ 4-7 ส.ค. นี้ ในน่านน้ำและน่านฟ้าที่ล้อมรอบไต้หวัน เตือนไม่ให้มีเรือหรือเครื่องบินใด ล้ำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวระหว่างฝึกซ้อม ทําให้สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และจีนในไต้หวันนั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไป ซึ่งอาจสร้าง Downside ใน เชิงเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากที่ IMF เพิ่งปรับลดคาดการณ์ World GDP Growth ปี 2565 จาก 3.6 % มาอยูที่ 3.2 % ซึ่งถือว่าอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับ World Bank และ OECD ที่ ปรับลดมาก่อนหน้านี้
ภาพจาก :Gettyimage
จีนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดกับประเทศกำลังพัฒนา
ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 55 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา บรรดาประเทศสมาชิกเอง ก็ยังคงกึ่งรับกึ่งสู้ต่อการแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณร สหรัฐและจีน โดยคุง โพก รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศกัมพูชา ระบุว่า การประชุมอาเซียนในครั้งนี้ที่มีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจะพยายามให้กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากในช่องแคบไต้หวัน “สงบลง” ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และบานปลายไปเป็นสถานการณ์ระดับภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลายๆประเทศที่กำลังฟื้นตัว หลังเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19
แต่หลังจากกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์ให้คำมั่นว่า จีนจะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีนอย่างเด็ดเดี่ยว สนองต่อการตัดสินใจของเพโลซีเยือนเกาะไต้หวัน โดยผลลัพธ์ต้องตกอยู่กับสหรัฐและกลุ่มกองกำลัง “เอกราชไต้หวัน” ทำให้ในบรรดาสมาชิก10 ประเทศอาเซียนเองก็ยังไม่แสดงท่าทีสนับสนุนให้การรับรองไต้หวันอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้เพราะ จีนถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดกับประเทศกำลังพัฒนาผ่านโครงการข้อริเริ่มสายแทบและเส้นทาง เพื่อขยายการค้าด้วยการก่อสร้างท่าเรือ ทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั่วเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลางไปยังยุโรป แต่ก็ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความผันผวนไม่แน่นอนระหว่างประเทศและในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพัฒนาการล่าสุดในพื้นที่ ที่อยู่ติดกับอาเซียน ซึ่งอาจทำให้ภูมิภาคเกิดความไม่มั่นคง และอาจนำไปสู่การคำนวณที่ผิดพลาด จนเกิดการเผชิญหน้าที่รุนแรง และความขัดแย้งเป็นวงกว้าง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุนแน่นอน
ผลกระทบต่อประเทศไทยมีมากน้อยแค่ไหน
ผลกระทบต่อประเทศไทยกรณีเลวร้ายน่าจะมีความเสี่ยงที่จะทําให้การค้าระหว่างประเทศสะดุด ขณะที่ไทยโครงสร้าง GDP สัดส่วนราว 68% มาจากภาคการส่งออก โดยไทยมีสัดส่วนการค้ากับจีนมากที่สุดราว 1.28 แสนล้านเหรียญในปี 2021 หรือคิดราว 22% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด และสหรัฐฯก็มีสัดส่วนการค้ากับไทยอันดับที่ 3 ราว 6.1 หมื่นล้านเหรียญ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด โดยหากรวมสัดส่วนการค้า ทั้ง 2 ประเทศอยู่ที่ 33% หรือ 1 ใน 3 ของประเทศคู่ค้าท้ังหมดของไทย
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าหากความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐลุกลามบานปลายขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะปัจจุบันไต้หวันเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 60% ของโลก โดยมีบริษัทขนาดใหญ่ เช่น AMD TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกเช่นกัน โดยผลกระทบด้านเศรษฐกิจยังไม่เห็นในทันที ขึ้นอยู่กับท่าทีของจีน จะตอบโต้อย่างไร
เทียบขนาดการค้า-การลงทุนไทย จีน สหรัฐ
ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ขณะที่สหรัฐเป็นอันดับ 2 ขณะเดียวกันจีนมีความสัมพันธ์ด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียน-จีน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ร่วมกับจีนและอีก 14 ประเทศ ตลอดจนยังมีความสัมพันธ์ด้านโลจิสติกส์ระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ในส่วนของการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่รัฐบาลจีนเข้ามาให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก ขณะที่ฝั่งสหรัฐก็ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาประเทศสมาชิกในความตกลงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีนี้ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับสุดยอดผู้นำเอเปค ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐ-จีน-รัสเซียจะต้องเข้าร่วมด้วย แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า ตัวแทนของแต่ละประเทศจะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้หรือไม่ แต่ไม่ว่าบรรดาบุคคลสำคัญของทั้ง 3 ชาตินี้ขยับไปไหน ก็สะเทือนไปแทบจะทุกตลาด ดังนั้นจึงเชื่อว่าความสัมพันธ์ของบรรดาชาติมหาอำนาจเหล่านี้ย่อมมีทั้งผลดีและผลร้ายพอๆกันต่อเศรษฐกิจโลก
ภาพจาก : AFP
ข้อมูล : บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส,กรมการค้าต่างประเทศ
ภาพจาก : AFP