รีเซต

สธ.ย้ำติดโควิดอาการไม่หนัก รักษาที่บ้าน อยู่ร่วมคนอื่นได้ พรุ่งนี้! รออัพเดตสถานการณ์

สธ.ย้ำติดโควิดอาการไม่หนัก รักษาที่บ้าน อยู่ร่วมคนอื่นได้ พรุ่งนี้! รออัพเดตสถานการณ์
มติชน
9 มกราคม 2565 ( 15:34 )
73

ข่าววันนี้ 9 มกราคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการคาดการณ์สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า เป็นไปตามกราฟที่แสดงในฉากทัศน์ว่าหลังปีใหม่ จะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น แต่ต้องรอดูสัปดาห์หน้าอีกครั้งว่า จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างไร เบื้องต้นคาดว่า สธ.จะมีการแถลงรายงานสถานการณ์และรายละเอียดในวันที่ 10 มกราคมนี้ และรวมถึงชี้แจงแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้ออีกครั้งด้วย

 

“เราไม่ได้คาดการณ์ว่าอย่างไร จะถึงหมื่นรายวันไหน แต่ตัวเลขเป็นไปตามเส้นกราฟ ซึ่งเราก็พยายามกดให้ตัวเลขต่ำสุด” นพ.โอภาส กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจะต้องรองรับสถานการณ์อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันมีการประเมินสถานการณ์แล้วก็ไม่ถือว่าหนักหรือรุนแรงกว่าครั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเดลต้า ซึ่งย้ำว่า ผู้ติดเชื้ออาการไม่หนัก ก็สามารถใช้การรักษาจากที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อไม่โหลดภาระของบุคลากรสาธารณสุข และทุ่มเทการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการได้เต็มที่

 

“ผู้ป่วยอาการหนักมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ คนใส่ท่อช่วยหายใจลดเหลือร้อยเศษๆ หากทุกคนรักษาด้วยระบบ HI ตามเกณฑ์ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร” นพ.โอภาส กล่าว

 

เมื่อถามต่อไปว่า สถานการณ์จำเป็นต้องเปิดศูนย์แรกรับดูแลผู้ติดเชื้อ เช่น รพ.บุษราคัม หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้กรมการแพทย์อยู่ระหว่างเก็บข้อมูล ซึ่งจะแถลงรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่ย้ำว่า หากประชาชนที่ตรวจพบผลบวก สามารถติดต่อที่สายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้

 

“แต่ส่วนใหญ่คนที่หาเตียงตอนนี้ ไม่ค่อยมีอาการ” นพ.โอภาส กล่าว

 

เมื่อถามต่อว่า สำหรับคนติดเชื้อไม่มีอาการ จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัส ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาแก้อักเสบ หรือยาฆ่าเชื้อหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆ ถ้าไม่มีอาการอะไรเลย และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง 608 ที่จะมีความรุนแรงของโรค แทบไม่ต้องการยาอะไรเลย อย่างต่างประเทศก็ไม่ได้ใช้ยารักษาคนไม่มีอาการ แต่รายละเอียดเรื่องนี้ทางกรมการแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลได้ชัดเจน

 

เมื่อถามว่าข้อแนะนำสำหรับคนที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ สามารถทำได้หรือไม่ มีความน่ากลัวต่างจากเชื้อเดลต้าหรือการระบาดรอบอื่นอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้เชื้อโอมิครอนก็ไม่ได้น่ากลัวกว่าตอนแรก ซึ่ง สธ. ก็มีแนวทางการปฏิบัติตัวสำหรับการแยกกักที่บ้าน (HI) ที่สำคัญคือ 1.ทุกคนในบ้านฉีดวัคซีนให้ครบ โดยเฉพาะคนสูงอายุ ที่ต้องฉีดวัคซีนและต้องแยกตัวให้มากกว่าคนอื่น 2.คนติดเชื้อสวมหน้ากากอนามัย โดยย้ำว่าตลอดเวลา 3.แยกใช้ภาชนะ และ 4.พยายามแยกห้องกันอยู่

 

“ไม่ต้องกังวลขนาดนั้น ที่จะกีดกันคนติดเชื้อ เราพิสูจน์แล้วว่าเชื้อโอมิครอน ไม่ได้ทำให้อาการหนักหรือรุนแรงมาก” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง