ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้นั่งนายกฯ ย้อนอดีตประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 มาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 91 ปี ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว 27 ครั้ง รวมครั้งล่าสุด วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะพบว่า พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แต่ไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 8 ครั้ง
โหวตนายกรัฐมนตรี
ครั้งแรกเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2500 นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นหัวหน้าพรรคสหภูมิ นำพรรคชนะการเลือกตั้ง ได้ สส. 44 ที่นั่ง จาก 160 ที่นั่ง แต่เหตุการณ์ขณะนั้น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกและเป็นหัวหน้าพรรคชาติสังคม กังวลว่าพรรคสหภูมิที่ตนเองให้การสนับสนุนจะไม่มีเสถียรภาพมากพอ จึงตัดสินใจยุบพรรคสหภูมิ และพรรคเสรีมนังคศิลา พร้อมดูด สส.ที่ไม่สังกัดพรรค และ สส.ที่มาจากการแต่งตั้ง เข้ามาอยู่ในพรรคชาติสังคม และจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยให้ พลโทถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าพรรคชาติสังคม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ผ่านไปอีก 18 ปี มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2518 ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำพรรค ชนะเลือกตั้งได้ สส. 72 ที่นั่ง จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ได้เสียงสนับสนุนเพียง 103 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ สส.ในสภาฯ ที่มีจำนวน 296 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ต้องจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ทำให้ไม่ผ่านการโหวตลงมติระหว่างที่คณะรัฐมตรีแถลงนโยบายต่อสภาฯ เปิดช่องให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่มี สส. ในสภาเพียง 18 เสียง สามารถรวบรวมเสียง สส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ 8 พรรค ได้ 135 เสียง ถึงกึ่งหนึ่งพอดี จัดตั้งรัฐบาล และได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้ง ปี 2522 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม นำพรรค ชนะการเลือกตั้งได้ สส. 88 ที่นั่ง แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสส.ในสภาฯ ที่มีทั้งหมด 301 ที่นั่ง ทุกพรรคจึงมีมติสนับสนุนให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 2
การเลือกตั้งปี 2526 พล.อ.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย นำพรรค ชนะเลือกตั้ง ได้ สส. 110 ที่นั่ง จากทั้งหมด 324 ที่นั่ง และไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง พรรคกิจสังคม, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชากรไทย จึงตกลงกันที่จะสนับสนุน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องอีกสมัย
ส่วนในปี 2529 มีการเลือกตั้งทั่วไป นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำพรรคชนะเลือกตั้งได้ สส. 100 ที่นั่ง จากทั้งหมด 347 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม ร่วมกับพรรคชาติไทยที่ได้ 64 ที่นั่ง พรรคกิจสังคม 51 ที่นั่ง และพรรคราษฎร 20 ที่นั่ง โดยทั้ง 4 พรรค เห็นชอบให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรีต่อ เป็นสมัยที่ 3
ส่วนผลการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ปี 2535 นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม นำพรรค ชนะการเลือกตั้งได้ สส. 79 ที่นั่ง จากสส.ทั้งหมด 360 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลผสม 5 พรรค จำนวน 195 เสียง และเตรียมเสนอชื่อนายณรงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏข่าว ว่า นายณรงค์ มีความใกล้ชิดกับขบวนการค้ายาเสพติด แม้ นายณรงค์ จะปฏิเสธเรื่องดังกล่าวแต่ไม่เป็นผล ทำให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลท 5 พรรค เสนอชื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
ย้อนกลับไปการเลือกตั้ง เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ปี 2562 พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 1 ได้ สส. 136 ที่นั่ง จาก สส.ทั้งหมด500 ที่นั่ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ , นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ , นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 2 ได้ สส. 116 ที่นั่ง ประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน โดยได้รวบรวมเสียง สส.จากพรรคร่วม 19 พรรค จัดตั้งรัฐบาลผสม จำนวน สส. 251 ที่นั่ง และเสนอชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นคนนอก ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเสียงสว. 250 เสียง มาร่วมโหวตสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 29
และผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อ14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้ง ได้จำนวน สส. 151 ที่นั่ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค จำนวน 312 เสียง เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่นายพิธา ไม่สามารถฝ่าด่าน สว.ที่มาร่วมลงมติโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ที่ต้องใด้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภาฯ คือ 276 เสียง ทำให้ต้องส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย ที่ได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 2 มีสส. 141 เสียง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า แม้ผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมีเงื่อนไขและเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน
เรียบเรียงโดย มัชรี ศรีหาวงศ์
ที่มา: วิกิพีเดีย
บทความเกี่ยวกับการ โหวตนายกรัฐมนตรี 2566
- ประธานสภา ก้าวไกล-เพื่อไทย ใครได้นั่ง?
- ประธานสภา หน้าที่มีอะไรบ้าง? ทำไมใคร ๆ ก็อยากได้เก้าอี้นี้!
- ประธานรัฐสภา จากอดีต-คนปัจจุบัน 2566 ไทยมี ประธานรัฐสภาไทย มาแล้วกี่คน
- เลือกนายกฯ เปิดโพลสำรวจความเห็นปชช. 'ราบรื่น-มีอุปสรรค' หรือไม่?
- "ส.ว.วุฒิพันธุ์" ย้ำจุดยืน โหวตนายกฯคนที่ 30 จากพรรคที่มี ส.ส.มากสุด
- โหวตนายกได้กี่รอบ? เปิด 3 แนวทาง โหวตนายกฯ คนที่ 30
- ประชุมสภา 13 กรกฎาคม 2566 โหวตนายกรัฐมนตรี 09.30 น. เป็นต้นไป
- เปิด 3 แนวทาง 13 กรกฎาคม 2566 โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30
- เปิด "กติกา" โหวตนายกฯ คนที่ 30 พร้อมเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล
- ตร.เตรียมกำลังดูแลวัน "โหวตนายกรัฐมนตรี" แนะเลี่ยงเส้นทางหน้ารัฐสภา
- เปิดท่าทีส.ส.แต่ละพรรคมอง ‘วันโหวตนายกฯ’ ราบรื่นหรือไม่?
- ถ่ายทอดสด "โหวตนายกรัฐมนตรี" 13 กรกฎาคม 2566 เกาะติดพร้อมกันที่นี่!
- เปิดแผนการรักษาความปลอดภัยรอบรัฐสภารับ “วันโหวตนายกฯ” ย้ำยึดหลักสากล
- "พิธา" พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ วันโหวตนายกฯ
- "โหวตนายกฯ" เช็กเสียง 750 สมาชิกรัฐสภา
- ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งรับคำร้องกกต.ยื่นสอบ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เข้าระบบแล้ว
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก