รีเซต

เปิด "กติกา" โหวตนายกฯ คนที่ 30 พร้อมเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล

เปิด "กติกา" โหวตนายกฯ คนที่ 30 พร้อมเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล
TNN ช่อง16
5 กรกฎาคม 2566 ( 19:47 )
136
เปิด "กติกา" โหวตนายกฯ คนที่ 30 พร้อมเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล

ผ่านขั้นแรกไปแล้ว สำหรับการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นแกนนำ เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน เรียบร้อยแล้ว  ขั้นตอนต่อไป คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่  30  

 

 

โหวตนายกฯ คนที่ 30

 

นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และว่าที่ประธานรัฐสภา นัดหารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ก่อนเห็นร่วมกัน กำหนดให้การประชุมรัฐสภา โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้   ผ่านการโหวตเลือกในที่ประชุมร่วมรัฐสภา คือ  ส.ส. 500 คน และ ส.ว.   250 คน ซึ่งจะต้องได้เสียงโหวตสนับสนุนไม่น้อยกว่า 376 เสียง  โดยปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี

 

ทั้งนี้การเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตามที่พรรคการเมืองได้แจ้งไว้ต่อ กกต.  และต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป   หากพิจารณาจากผลการเลือกตั้ง ส.ส. พบว่า แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคต่าง ๆ ที่ยังมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 8 คน จาก 5 พรรคการเมือง คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล  นายเศรษฐา ทวีสิน นายชัยเกษม นิติศิริ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย   นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ  รวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  ทั้งนี้  การเสนอชื่อ  ต้องมี  ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 

 

สำหรับการโหวตนายกรัฐมนตรี จะแตกต่างจากการลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ  ที่ ส.ส. ดำเนินการกันเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา  โดยที่ผู้ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา เพราะตามรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องปรากฏตัวในที่ประชุมรัฐสภาวันดังกล่าว นอกจากนี้  การเลือกประธาน เมื่อมีการเสนอชื่อแคนดิเดตมากกว่า 1 คน ต้องลงคะแนนลับ แต่วิธีการเลือกนายกรัฐมนตรี จะกระทำโดยเปิดเผย โดยการขานชื่อ ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ  กระบวนการนี้ ทำให้เห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. แต่ละคนให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด และจะเห็น ส.ส. ที่โหวตสวนทางกับมติพรรค หรือที่เรียกกันว่า   " ส.ส. งูเห่า” ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุน 376 เสียงขึ้นไป  จึงจะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี  

 

แต่หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง  สามารถโหวตวนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้  เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเอาไว้  แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี 2550  ที่กำหนดเวลาไว้ 30 วัน หากพ้น 30 วัน ยังไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี 

 

อย่างไรก็ตาม หากพลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล ได้เขียนเปิดช่องให้ ส.ส.-ส.ว. สามารถเสนอให้มี "นายกฯ คนนอก” ได้ โดยต้องใช้เสียง ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ขอยกเว้นการเลือกนายกฯ ในบัญชี  ก่อนดำเนินการโหวตนายกฯ คนนอก โดยยังคงต้องใช้เสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 376 เสียง 

 

 

ด่านหินของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่มีเสียงรวมกันอยู่ที่ 311 เสียงในขณะนี้ ยังต้องการเสียงของสมาชิกรัฐสภา สนับสนุนอีก 65 เสียง เพื่อให้ได้ครบ 376 เสียง ในการส่ง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 30  แต่หากดูท่าทีของพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม 188 เสียง ยังจับมือกันแน่น ขณะที่ ท่าที ส.ว. ก็ยังไม่มีสัญญาณในเชิงบวกออกมา ดังนั้น การโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30  จะกินเวลานานเท่าใด ผู้ที่จะยังคงทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

 

บทความเกี่ยวกับการ โหวตนายกรัฐมนตรี 2566

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง