Home Isolation ทางออกของวิกฤต 'เตียงเต็ม'
Home Isolation ดูแลตัวเองจากบ้าน ทางออกวิกฤตเตียงเต็มได้จริงหรือ? เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าทรัพยากรเตียง และบุคลากรทางการแพทย์อาจไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกต่อไป หลังอธิบดีกรมการแพทย์ ออกมายอมรับว่า สถานการณ์เตียงในกรุงเทพ และปริมณฑลยังไม่ดีขึ้น ยังพบผู้ติดเชื้อที่ยังรอเตียงอยู่ที่บ้านกว่า 400 - 500 คน
Home Isolation คืออะไร?
เป็นการดูแลตัวเองจากที่บ้าน โดยการอนุญาตให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตัวเองจากที่บ้านได้ แต่ยังอยู่ในการประเมิน และการควบคุมของแพทย์ ซึ่งนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายที่จะสามารถใช้แนวทางนี้ได้ แต่เจ้าหน้าที่จะคัดกรองก่อนว่า ผู้ติดเชื้อไม่มีปัญหาเรื่องการแยกกักตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประเมินว่าควรให้รักษาตัวเองด้วยการทานยาชนิดใด และจะมีการแจกเครื่องมือติดตามอาการเบื้องต้น เช่น
- จะให้ปรอทวัดไข้
- อุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือด
- รวมถึงจะมีการติดต่อสอบถามอาการเบื้องต้นเป็นประจำทุกวัน
.
ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวว่า แนวทาง Home Isolation หรือการดูแลตัวเองจากที่บ้าน จะนำร่องใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน
ใคร Home Isolation บ้าง?
- สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่สามารถแยกตัวได้ที่บ้าน
- ต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี
- ป่วยไม่มีอาการ
- สุขภาพแข็งแรง
- อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
- ไม่มีภาวะอ้วน ดัชนีมวลกาย มากกว่า 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัวมากกว่า 90 กก.
- ไม่ป่วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลพินิจของแพทย์
- ผู้ป่วยสมัครใจ
โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
1. ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้าน
2. ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด
3. แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
4. รับประทานในห้องของตนเอง
5. สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย
6.ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น
7. แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ
ใช้วิธี Home isolation ต้องวางแผนให้ดี
ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็น
เกี่ยวกับปัญหาเตียงไม่พอใน กทม.และปริมณฑลว่า จำเป็นจะต้องวางแผนให้ดี ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในกทม.และปริมณฑล ที่มีความเป็นเมืองสูง การทำ Home isolation คงทำได้แค่บางบ้านที่มีพื้นที่ แต่หากไม่มีพื้นที่พอ แยกอยู่แยกกินแยกสุขาแยกนอนไม่ได้
ซึ่งสิ่งที่ต้องทำในสถานการณ์ที่ประเทศไทยประสบปัญหาเตียงไม่เพียงพอนั้น รศ.นพ.ธีระ ยังระบุว่า คงจะต้องเน้นใส่หน้ากาก หมั่นถามไถ่สังเกตอาการสมาชิกในบ้าน และจัดบริการตรวจคัดกรองโรคให้ทุกคนในบ้านเป็นระยะ คาดว่าหากเราต้องทำมาตรการกักตัวที่บ้านจริง ๆ ไทยเราคงจะมีโอกาสระบาดหนักทีเดียวครับ คงต้องช่วยกันประคับประคองหารูปแบบที่เหมาะสม ความรู้ปัจจุบัน โอกาสเฉลี่ยในการติดในบ้าน 30%
โดยสิ่งที่ควรพิจารณา คือ วางแผนการนำส่งผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีเตียงรักษา ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่ยังพอมีทรัพยากรรองรับ ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่ามีทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำ home isolation หัวใจสำคัญที่สุดคือ
- การจัดบริการตรวจคัดกรองโรคให้แก่ทุกคนในบ้านหรือที่อาศัยร่วมกัน
- การจัดอุปกรณ์ป้องกัน ทั้งหน้ากาก และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ ให้แก่ประชาชนและผู้ติดเชื้ออย่างเพียงพอ
- ระบบสนับสนุนในชุมชน เรื่องอาหารการกินและน้ำดื่ม
อย่างไรก็ตาม การทำ Home Isolation ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาพยาบาลที่หลายประเทศเลือกใช้ แต่หัวใจสำคัญคือบริบทที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันทุกฝ่ายด้วย
ข้อมูล : มติชน, ฐานเศรฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อัพเดท “อาการโควิด-19” อาการเดิม vs อาการระลอกใหม่!
- ติดโควิด-19 แต่ยังไม่ได้ไปหาหมอ ต้องกักตัวอย่างไร?
- How To กักตัว 14 วัน ป้องกันโควิด เราติดหรือยังนะ?
- วิธีสังเกตอาการ นี่เราเป็นไข้เลือดออก หรือ ติดโควิด-19 ?
- อาการแบบนี้ ติดโควิดสายพันธุ์ไหน? สายพันธุ์อังกฤษ-สายพันธุ์อินเดีย-สายพันธุ์แอฟริกาใต้
- จับตา! ความน่ากลัวของโควิดสายพันธุ์อินเดีย-เดลต้า ระบาดหนักทั่วโลก