อีอีซี ลุยพัฒนา 5G รับลงทุนอนาคต
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ด อีอีซี ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยระบุว่า ประชุมเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G และการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการใช้ประโยชน์ ด้านการพัฒนาบุคลากร และด้านการมีส่วนร่วม และประชาสัมพันธ์ โดยแผนนี้จะเป็นแผนสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีในพื้นที่
ส่วนรูปแบบการลงทุนก็พร้อมพิจารณาสิทธิประโยชน์ที่จูงใจให้มีผู้มาลงทุนมากขึ้น โดยในช่วงกลางปีนี้จะมีเอกชนจากต่างประเทศย้ายฐานการผลิตในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 5G มาลงทุนในพื้นที่ที่ อีอีซี ทั้งการลงทุนด้านแบตเตอรี่ และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล หรือดาต้า สตอเรจ
สำหรับแผนการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ขณะนี้ได้ติดตั้งท่อ เสา สาย สัญญาณ เกิน 80% และเตรียมเพิ่มผู้ใช้ 5G ในภาคการผลิตผลักดันภาคธุรกิจโรงงานใน อีอีซี 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง รวมทั้งหน่วยราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล และกลุ่มเอสเอ็มอีให้มาใช้ 5G เริ่มนำร่องใช้บริเวณสัตหีบ สนามบินอู่ตะเภา นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด และบ้านฉาง ส่วนการพัฒนาบุคลากร ผลักดันให้ทุกบริษัทที่จะมาลงทุนด้านดิจิทัลเข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาคน โดยเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน ตั้งเป้าหมาย 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2564–2566 รวม 115,282 คน ปัจจุบันทำแล้ว 8,392 คน และประสานกับบริษัทชั้นนำ เช่น หัวเว่ย และเอชพี ผลิตบุคลากรร่วมกัน
ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังเป็นไปตามแผน การรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญา ซื้อขายโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือนกันยายนนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ที่ได้ลงนามระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ปตท. และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เพื่อพัฒนาห้องเย็นทันสมัยในการยกระดับรายได้เกษตรกรไทยที่จะนำร่องใน อีอีซี ประเภทผลไม้ เช่น ทุเรียน อาหารทะเล โดย กนอ. ได้จัดหาพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค มาบตาพุด 40 ไร่ ขณะที่ ปตท.จะพัฒนาห้องเย็น Blast freezer & Cold storage ขนาด 4,000 ตัน คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3-4 ปีนี้