รีเซต

สุดล้ำ! หนุ่มตุรกีใช้ AI-พิมพ์ 3 มิติ เนรมิต 'ชุดเกราะไอรอนแมน'

สุดล้ำ! หนุ่มตุรกีใช้ AI-พิมพ์ 3 มิติ เนรมิต 'ชุดเกราะไอรอนแมน'
Xinhua
17 กุมภาพันธ์ 2564 ( 11:49 )
224

อิสตันบูล, 17 ก.พ. (ซินหัว) -- "จาร์วิส! เตรียมยิงลำแสงและเปิดระบบการบิน ยิงได้เลย!" โทลกา โอซุยกูร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบิลกีในนครอิสตันบูลของตุรกี สั่งการหุ่นยนต์สีเทาตัวหนึ่งภายในสตูดิโอศิลปะ

 

โอซุยกูร์ออกแบบชุดเกราะของไอรอนแมน (Iron Man) ขึ้นมาใหม่เมื่อไม่นานนี้ โดยหยิบเอาหลากหลายเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการพิมพ์ 3 มิติ มารังสรรค์จนเกิดเป็นผลงานสุดประณีตเสมือนชุดเกราะของจริง

ไอรอนแมน ซึ่งมาพร้อมชุดเกราะที่ควบคุมโดยจาร์วิส (Jarvis) หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์อัจฉริยะที่โต้ตอบการทำงานกับมนุษย์ผ่านระบบสั่งการด้วยเสียง เป็นตัวละครในหนังสือการ์ตูนที่กลายเป็นภาพยนตร์ไตรภาคสุดโด่งดังและดึงดูดแฟนคลับจากทั่วทุกมุมโลก

 

จาร์วิสของโอซุยกูร์มีฟังก์ชันการทำงานหลากหลายและสามารถตอบสนองชุดคำสั่งต่างๆ ผ่านระบบสั่งการด้วยเสียง อาทิ การเปิดและปิดหมวกกันน็อก การยิงลำแสงบริเวณฝ่ามือสองข้าง และการเปิดใช้งานระบบเอฟเฟกต์การบินด้านหลัง โดยเขาใช้เวลาเกือบ 1 ปี 6 เดือน พัฒนาชุดเกราะสุดล้ำดังกล่าว

ปัจจุบันโอซุยกูร์เป็นผู้สอนรายวิชาเกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ในคณะออกแบบนิเทศศิลป์ เขาทุ่มเทพัฒนาแนวคิดโครงการประดิษฐ์เพิ่มขึ้นตลอดสองปีที่ผ่านมาและเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูบ ส่งผลให้มีผู้ติดตามแล้วเกือบ 400,000 คน โดยโอซุยกูร์มองว่าผลงานของตนเป็นการพัฒนาทดลองโครงการวิศวกรรม

"มันคือการนำความคิดของคุณไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ไม่ว่ามันจะดูไร้สาระแค่ไหนก็ตาม" โอซุยกูร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวภายในสตูดิโอขนาดใหญ่ที่แวดล้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานบ้านอัจฉริยะ พร้อมเสริมว่ากระบวนการดังกล่าวครอบคลุมศาสตร์หลายแขนง ตั้งแต่วิศวกรรมจนถึงการออกแบบหุ่นยนต์และการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วิชาช่างไม้จนถึงการตัดเย็บ

"โครงการนี้เปิดโอกาสให้คุณทำวิจัยมากมายและเรียนรู้เทคนิคจำเป็นทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่" โอซุยกูร์กล่าว โดยจุดประสงค์สูงสุดของเขาคือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่และเชื่อมโยงสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำเข้าด้วยกัน ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในวงการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์

 

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อาร์กภายในหน้าอกของจาร์วิสคือสิ่งที่สร้างแรงกดดันให้โอซุยกูร์มากที่สุดระหว่างกระบวนการสร้างจาร์วิส และบีบบังคับให้เขาต้องทำการวิจัยมากมาย โดยเขาเล่าว่า "อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นแบตเตอรี่ทริเทียมที่ผลิตพลังงานจำนวนน้อยมาก มันเป็นนิวเคลียร์และมีความปลอดภัย วิธีการนี้ถูกใช้ในหลายแวดวง เช่น การสำรวจอวกาศ"

ขณะเดียวกันการสวมและถอดชุดเกราะก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โอซุยกูร์ต้องใช้เวลาสวมใส่เกือบหนึ่งชั่วโมงด้วยความช่วยเหลือจากคนอีกสองคน

 

นอกจากนั้นสิ่งที่โอซุยกูร์หวาดกลัวมากที่สุดคือการที่เขาอาจถูกไฟไหม้ขณะอยู่ภายในชุดเกราะ "นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงมีระเบียบความปลอดภัยมากมาย" โอซุยกูร์กล่าว พร้อมระบุว่าเขาเตรียมผู้ช่วยไว้อย่างน้อยหนึ่งคนให้คอยถือเครื่องดับเพลิงสำหรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

เมื่อไม่นานนี้ โอซุยกูร์สร้างหุ่นยนต์แร็ปเปอร์ที่สามารถเขียนและอ่านเนื้อเพลงได้ "เราเลือกหนึ่งในท่อนที่หุ่นยนต์เขียนและนำเข้าสตูดิโอ มันฟังเหมือนเพลงแร็ปจริงๆ"

 

"ผู้สนับสนุนส่วนสำคัญของผมคือบริษัทเทคโนโลยีบางแห่งในจีน แต่แน่นอนว่าการระบาดใหญ่มีข้อเสียอยู่ เนื่องจากโครงการประเภทนี้ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม และโรคระบาดก็ทำให้การรวมตัวและร่วมมือกันเป็นเรื่องยากมาก"

"จาร์วิส! เปิดไฟ" โอซุยกูร์ออกคำสั่งสุดท้ายกับจาร์วิสขณะพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า โดยเขาเชื่อว่าอีกไม่นานนี้การใช้ปัญญาประดิษฐ์จะก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะแวดวงบ้านอัจฉริยะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง