หนี่ฮาว = เหยียด? เจาะลึกคำ - วลีที่ฝรั่งใช้เหยียด “คนเอเชีย” พร้อมแนวทางรับมือ

"หนี่ฮาว" จุดกระแสถกเถียงเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ เจาะลึกคำและวลีที่ฝรั่งใช้เหยียดคนเอเชีย พร้อมแนวทางรับมือ
“ทราย สก๊อต” หรือ สิรณัฐ สก๊อต กลายเป็นที่สนใจอย่างมากบนโซเชียลในช่วงที่ผ่านมา หลังเผยคลิปตักเตือนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่แสดงพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติบนเรือท่องเที่ยว หลังเจอทักทายว่า "หนี่ฮาว"
ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นการ “เหยียดเชื้อชาติ” หรือไม่ ? เพราะนักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย แต่ กลับทักทายเจ้าหน้าที่ชาวไทยด้วยภาษาจีน บางส่วนมองว่าเข้าข่ายการเหยียดมากกว่า เพราะว่าตัวเองมาเที่ยวจองตั๋วมาเหยียบแผ่นดินไทย ทำไมจะไม่รู้ว่าอยู่ประเทศไหนไม่ใช่มณฑลในประเทศจีน
อย่างไรก็ตามการพูด "หนี่ฮาว" ตามบริบทที่ปรากฏบนคลิปที่เผยแพร่ในโซเซียลมีเดีย อาจเป็นในเรื่องของการเจตนา “ล้อเลียน” มากกว่าการเหยียด และ อาจสะท้อนมายาคติที่ฝังอยู่คือ “คนเอเชียหน้าคล้ายกันหมด” พูดภาษาจีนใส่คงไม่เป็นอะไร ซึ่งถึงแม้คนพูดจะ ไม่ได้เจตนาร้ายแรง แต่พฤติกรรมนี้ สะท้อนอคติแบบไม่รู้ตัว (unconscious bias) หรือ การเหมารวมทางเชื้อชาติ
แล้วคำไหนล่ะ ที่ชอบใช้เหยียดเชื้อชาติชาวเอเชีย (Asian slurs) หรือ เป็นคำหรือวลีที่มีเจตนาดูถูก เหยียดหยาม หรือทำให้เสียเกียรติบนพื้นฐานของเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ ซึ่งบางคำอาจดูเหมือนคำธรรมดาแต่มีความหมายแฝงรุนแรงในบริบทต่าง ๆ ซึ่งบริบทของคำต่างจากการ “ล้อเลียน” แบบมีเส้นบางๆ กั้นอยู่
แบบไหนเป็นคำเหยียดเชื้อชาติ?
1. Chink
- คำนี้เป็นคำเหยียดเชื้อชาติที่ดูถูกชาวเอเชีย โดยเฉพาะชาวจีน มักจะใช้ในเชิงดูถูก
2. Jap
- เป็นคำที่ย่อมาจาก "Japanese" แต่ใช้ในบริบทที่ดูถูกคนญี่ปุ่น มักจะใช้ในลักษณะที่ไม่เคารพ
3. Gook
- ใช้ดูถูกชาวเอเชียในทั่วไป เป็นคำหยาบที่ไม่ควรใช้ในสังคม
4. Slope
- เป็นคำเหยียดที่ใช้กับคนเอเชีย โดยอ้างอิงจากลักษณะของใบหน้าในเชิงดูถูก
6. Yellow
- คำนี้มักใช้เรียกคนเอเชียด้วยการอ้างถึงสีผิวในทางดูถูก เช่น "yellow people" หรือ "yellow monkey"
วลีที่เกี่ยวกับการเหยียด
"Go back to your country" – ประโยคที่เหยียดชัดเจน มักใช้กับชาวต่างชาติ
"You people..." – คำเหมารวมที่ดูแยกแยะคนตามเชื้อชาติ
"You speak English so well!" – อาจฟังดูชม แต่แฝงความเหยียดแบบไม่รู้ตัว (microaggression)
"All Asians look the same." – การเหมารวมลักษณะคนเอเชีย
"Ching chong" – เสียงล้อเลียนภาษาจีน/เอเชียที่หยาบคายและเหยียดรุนแรง
คำไม่เหยียด แต่ล้อเลียนแบบเหมารวม
“All Asians look the same” (คนเอเชียหน้าเหมือนกันหมด)
“Kung fu master / Jackie Chan” (ล้อเลียนว่าเก่งศิลปะป้องกันตัว)
“Corona virus” (เคยถูกใช้ล้อเลียนคนจีนช่วงโควิด)
“Math nerd / Model minority” (เหมารวมว่าคนเอเชียเก่งเลขและไม่สร้างปัญหา)
เจอเหยียดมาแบบนี้ ควรทำตัวอย่างไร?
การรับมือกับการเหยียด โดยเฉพาะการเหยียดเชื้อชาติหรือเชื้อสาย (เช่น คนเอเชีย) สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความปลอดภัย และความพร้อมทางอารมณ์ของแต่ละคน
1.ตั้งสติ
อย่าตอบโต้ด้วยความโกรธทันที เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง
2. ตอบโต้ไปอย่างมั่นใจ
ประโยคที่ใช้ตอบกลับอย่างสุภาพแต่มั่นใจ
“That comment is inappropriate."
คำพูดนั้นไม่เหมาะสมเลยครับ/ค่ะ
"What you said is offensive and racist."
สิ่งที่คุณพูดมันเหยียดเชื้อชาติและน่ารังเกียจ
"I would appreciate it if you didn’t make assumptions based on my race."
ผม/ดิฉันจะขอบคุณมากถ้าคุณจะไม่เหมารวมเพราะเชื้อชาติของฉัน
"Please don’t use that kind of language."
กรุณาอย่าใช้คำพูดแบบนั้น
3.ตั้งคำถามกลับ
“คุณหมายความว่ายังไง?” เพื่อให้ผู้พูดรู้ตัว
4. จดจำรายละเอียดให้ได้มากที่สุด
จดวันที่ เวลา สถานที่ และรายละเอียดไว้ หรือบันทึกเสียง/วิดีโอ (ถ้าทำได้อย่างปลอดภัย) แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากอยู่ในต่างประเทศ (สหรัฐ , อังกฤษ)เช่น เช่น Equal Employment Opportunity Commission (EEOC), Human Rights Commission
"นอบน้อมแบบไทย" ใช้ไม่ได้ในบางสถานการณ์ เงียบ = การยอมรับ
ในบางสถานการณ์ ความนอบน้อมแบบไทย - โดยเฉพาะการนิ่งเฉยหรือหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า - อาจไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมเสมอไป เพราะอาจถูกตีความว่าเป็นการ “ยอมแพ้” หรือ “ยอมจำนน” โดยเฉพาะในสายตาของชาวตะวันตกที่ให้คุณค่ากับความ “กล้าแสดงออก” และการยืนหยัดในสิ่งที่ตนเองเชื่อ
วัฒนธรรมยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะในประเทศอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ หรือเยอรมนี มักปลูกฝังให้ประชาชนมีความเป็น “Assertive” หรือกล้าแสดงออกอย่างชัดเจน ไม่กลัวการโต้แย้ง แม้กับผู้มีอำนาจ เช่น ครู หรือหัวหน้า พวกเขามองว่า “ความเงียบ” เท่ากับ “การยอมรับ” หรือ “ไม่มีเหตุผลจะโต้แย้ง”
ดังนั้น หากเลือกเดินหนีโดยไม่พูดอะไรเลย บางคนอาจตีความว่า “คุณไม่มีจุดยืน” หรือ “ไม่กล้าสู้หน้า” โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีอีโก้สูง แต่หากตอบกลับด้วยความมั่นใจ สุภาพ และหนักแน่น จะได้รับการยอมรับ และอาจทำให้ผู้กระทำต้องชะงักและกลับไปทบทวนพฤติกรรมของตน
จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นให้ถกเถียงว่า กรณี “ทราย สก๊อต” ที่โต้กลับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งกล่าวคำว่า “หนี่ฮาว” นั้น รุนแรงเกินไปหรือไม่ - หรือเป็นการแสดงออกอย่างเหมาะสมในบริบทวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน