เราต้องไม่ยอมแพ้ให้กับการเหยียดเชื้อชาติ
TNN World
25 มีนาคม 2564 ( 17:12 )
156
เสี่ย เสี้ยวเฉิน อาม่าวัย 76 ปี ที่สู้กลับชายอเมริกันผิวขาว ในนครซานฟรานซิสโก ที่พุ่งเข้ามาหน่อยใบหน้า ประกาศจะมอบเงินบริจาคที่เธอได้รับทั้งหมด 933,630 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 29 ล้านบาท ให้กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติ พุ่งเป้าไปที่ชุมชนชาวเอเชียน-อเมริกัน
31,000 คน บริจาคให้อาม่า
จนถึงเย็นวันพุธ (24 มีนาคม) ที่ผ่านมา ประชาชนมากกว่า 31,000 คน ได้บริจาคเงิน รวม 933,630 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลให้อาม่าเสี่ย ผ่าน GoFundMe ซึ่งเป็นเว็บไซต์เรี่ยไรเงินบริจาค
เงินมหาศาลนี้ เกินกว่าที่หลานชายของอาม่า ที่เป็นผู้เริ่มแคมเปญ กำหนดไว้เพียง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นเงินที่เรี่ยไรได้ภายในเวลาเพียง 5 วันเท่านั้น
จอห์น เฉิน หลานชายของอาม่า เขียนในแถลงการณ์ว่า
“อาม่าเสี่ยบอกว่า เราต้องไม่ยอมแพ้ให้กับการเหยียดเชื้อชาติ เราต้องสู้แม้ตายก็ยอม เธอพูดมาตลอดว่า ให้บริจาคเงินที่เรี่ยไรได้ทั้งหมดกลับไปให้ชุมชนชาวเอเชียน-อเมริกัน เพื่อต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติ”
เฉินยังบอกว่า อาม่าเสี่ยตัดสินใจเด็ดขาดเช่นนี้ เพราะตระหนักว่า ปัญหาการเหยียดเอเชีย “มันยิ่งใหญ่กว่าตัวเธอไปแล้ว”
เหตุทำร้ายอาม่า...สะเทือนโลก
เหตุโจมตี ‘อาม่า’ เกิดขึ้นเมื่อวันพุธ (18 มีนาคม) นางเสี่ย ซึ่งพื้นเพเป็นคนจีนจากมณฑลกวางตุ้ง กำลังรอข้ามถนนอยู่ดี ๆ ก็มีคนตะโกนว่า “คนจีน” ก่อนที่ชายคนนี้จะพุ่งเข้ามาต่อยหน้าเธอ
อาม่าเสี่ย หยิบท่อนไม้ที่วางอยู่ใกล้ ๆ แล้วต่อสู้กลับ ภาพวิดีโอที่มีผู้บันทึกไว้ได้ กลายเป็นคลิปไวรัลออนไลน์อย่างรวดเร็ว และแสดงให้เห็นอาม่าที่ต้องใช้ถุงน้ำแข็ง ประคบใบหน้า ส่วนชายผิวขาวที่ก่อเหตุ บาดเจ็บนอนบนเปลพยาบาล
ตำรวจนครซานฟรานซิสโกรายงานว่า ชายวัย 39 ปีคนนี้ถูกจับ และกำลังถูกสอบสวนฐานทำร้ายร่างกาย
ลูกสาวของนางเสี่ย กล่าวว่า แม่ของเธอ “รู้สึกบอบช้ำทางจิตใจมาก” หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนตาด้านขวาของอาม่าก็บาดเจ็บ
“เธอกลัวมาก ตาของเธอยังมีเลือดออกอยู่เลย” ดง เหมย ลี่ ลูกสาวของ เสี่ย เสี่ยวเฉิน บอกกับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น
กราดยิง-ทำร้าย...คนเอเชีย
อาม่าเสี่ย อพยพจากจีนมายังสหรัฐฯ เมื่อปี 1995 ตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศ เธอไม่เคยเผชิญการเหยียดเอเชียถึงขั้นทำร้ายเช่นนี้
แต่ก่อนหน้าที่อาม่าจะถูกทำร้าย ได้เกิดเหตุกราดยิง 8 ศพในเมืองแอตแลนตา ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตเป็นหญิงเอเชีย 6 คน
สมาชิกวุฒิสภาเชื้อสายไทย ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ กล่าวว่า นี่เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง แม้ว่ามือปืนซึ่งเป็นชายผิวขาวบอกว่า แรงจูงใจมาจากการ ‘เสพติดเซ็กซ์’ สอดคล้องกับตำรวจที่ยังไม่เชื่อมโยงเหตุสลดนี้กับอาชญากรรมที่มีแรงจูงใจทางเชื้อชาติ
สถิติทำร้ายคนเอเชียพุ่ง 149%
การทำร้ายอาม่า และเหตุกราดยิงสังหารคนเอเชีย เกิดขึ้นในช่วงที่คนเชื้อสายเอเชียทั่วโลกตะวันตก เผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติ ทำร้ายร่างกายทั้งทางวาจาและคำพูด เพิ่มมากขึ้น นับแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อกว่า 1 ปีก่อน
ในสหรัฐฯ ประเทศเดียว อาชญากรรมพุ่งเป้าไปที่คนเอเชียพุ่งสูงถึง 149% ในช่วงปี 2019-2020 ตามข้อมูลจากศูนย์ศึกษาความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่ง มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย
ในขณะที่อาชญากรรมจากความเกลียดชังพุ่งเป้าไปที่คนเอเชียพุ่งสูงขึ้น แต่อาชญากรรมลักษณะนี้ในภาพรวม กลับลดลง 7%
อาม่าไม่ใช่คนเดียวในวันนั้น
ชายคนที่ทำร้ายอาม่า ชื่อ สตีเฟน เจนกินส์ อายุ 39 ปี แต่ก่อนหน้าที่เขาจะพุ่งเข้าทำร้ายอาม่าเสี่ย เขายังทำร้าย ‘ง่อก ฟาม’ ชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม วัย 83 ปี จนล้มลง จมูกแตก และกระดูกคออาจร้าวด้วย
ครอบครัวของ ‘ง่อก’ เรี่ยไรเงินบริจาคเป็นค่ารักษาเช่นกัน และมีผู้บริจาคเงินให้เขามากถึง 284,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 8.8 ล้านบาท จนถึงเวลานี้
ตำรวจนครซานฟรานซิสโกตั้งข้อหาเจนกินส์ ฐานทำร้ายร่างกายและทารุณผู้สูงอายุ ส่วนแรงจูงใจว่าพุ่งเป้าทำร้ายคนเอเชียหรือไม่นั้น ยังอยู่ระหว่างการสืบสวน