กระแสการ เหยียดเอเชีย ลามทั่วโลก
กระแสการ "เหยียดเอเชีย" ไม่ได้เกิดแค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่มันกำลังระบาดทั่วโลก
เหยียดเอเชีย น่ากลัวกว่าโควิด-19
ท่ามกลางกระแสรำลึกถึงหญิงเอเชีย 6 คน ที่ถูกกราดยิงเสียชีวิตในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ของสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ แม้ผู้ก่อเหตุจะยืนยันว่าแรงจูงใจ เสพติดเซ็กส์ และว่าไม่เกี่ยวข้องกับกระแส “การเหยียดเชื้อชาติ”
กลับเป็นตัวดึงดูดความสนใจให้ทั่วโลกได้เห็นว่า แท้จริงแล้ว “การเหยียดเชื้อชาติ” โดยเฉพาะ “ชาวเอเชีย” ในสหรัฐอเมริกากำลังรุนแรงขึ้น
และไม่เพียงแค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น มีสถิติพบว่า กระแสเหยียดชาวเอเชีย กำลังบานปลายไปทั่วโลก
ตั้งแต่สหราชอาณาจักร ไปจนถึงออสเตรเลีย ที่มีรายงานว่า กระแสต่อต้านชาวเอเชียตะวันออก และต่อต้านอาเซียน รวมถึง “การก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง” กับคนที่มีเชื้อชาติเหล่านี้ กำลังเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศตะวันตก โดยเฉพาะช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก
กระแสดังกล่าว สะท้อนออกมาในหลากรูปแบบ อาทิ คนหลีกหนี หรือหลบเลี่ยงชาวเอเชีย (คนหน้าเอเชีย) ระหว่างโดยสารรถไฟ การโจมตี-ว่าร้ายทางวาจา หรือแม้กระทั่งการทำร้ายร่างกาย
อังกฤษพบ "เหยียดเอเชีย" กว่า 200 ครั้ง
หลายประเทศในยุโรป รวมถึง ฝรั่งเศส เยอรมนี หรือเบลเยียม ไม่มีการเก็บข้อมูลทางประชากรศาสตร์ของชนกลุ่มน้อย ทำให้ยากที่จะประเมินปัญหาเหยียดเชื้อชาติที่แท้จริงได้
แต่มีสถิติ “อาชญากรรมจากความเกลียดชัง” ที่บันทึกไว้ในสหราชอาณาจักร โดยข้อมูลจากตำรวจสก็อตแลนด์ยาร์ด เผยว่า มีเหตุ “อาชญากรรมจากความเกลียดชัง” ต่อชาวเอเชียตะวันออก เกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2020 มากกว่า 200 ครั้ง
เพิ่มขึ้นถึง 96% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อนหน้านั้น
หวัง เผิง อาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยเซาท์แธมตัน ทางตอนใต้ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า เขาถูกทำร้ายร่างกายจากกลุ่มชายผิวขาว 4 คน ระหว่างที่วิ่งออกกำลังกายใกล้บ้าน
“ไร้ซึ่งอารยะ”
ผู้ก่อเหตุตะโกนใส่ว่า “ไอ้ไวรัสจีน” (Chinese virus) ก่อนที่ทั้ง 4 จะลงจากรถ และชกเขาที่ใบหน้า แล้วเตะซ้ำจนเขาลงไปนอนกองอยู่บนพื้น
หวัง ในวัย 37 ปี ได้รับบาดเจ็บไม่มากนัก แต่อาการทางจิตใจยังร้ายแรง เขากังวลทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน อนาคตในสหราชอาณาจักร และความปลอดภัยของลูกชาย
“สิ่งที่พวกเขาทำ มันไม่เป็น ‘อารยะ’ มันไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน พวกเขาทำกับผมเหมือนกับเป็น ‘สัตว์ตัวหนึ่ง’” ภายหลังตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 2 ราย
ขณะที่ เก หลง นักเรียนสิงคโปร์ในสหราชอาณาจักรบอกว่า เธอถูกคนขายดอกไม้ ตะโกนใส่ว่า “ไวรัสโคโรนา ไวรัสโคโรนา” หลังเธอปฏิเสธที่จะซื้อดอกไม้
“ฉันไม่ได้มาจากจีน แต่ฉันจินตนาการออกเลยว่า คนเอเชียกำลัง ‘สับสนอย่างมาก’ เมื่อถูกเหยียดเช่นนี้”
ยุโรปเริ่มตื่นตัว หวังหยุด “เหยียดเอเชีย”
นับแต่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด กระแสเหยียดเอเชีย ก็ระบาดตามมาเช่นกัน ทำให้นักเคลื่อนไหวทั้งในสเปน-ฝรั่งเศส ต่างเริ่มตระหนักถึงปัญหา ผุดโครงการหลายอย่าง เช่น #NoSoyUnVirus หรือ #ฉันไม่ใช่ไวรัส ในภาษาสเปน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ยุติความรุนแรงต่อชาวเอเชีย
เดือนมีนาคม 2020 โธมัน ซิ่ว ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ถูกทำร้ายในกรุงมาดริด เมื่อชายผิวขาว 2 คน ตะโกนเกี่ยวกับไวรัสใส่เขา
ซิ่ว บอกว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม ปีที่แล้ว เขาถูกทำร้ายทาง “วาจา” ถึง 10 ครั้ง
แต่ครั้งล่าสุดไม่เพียงถูกว่าร้ายทางวาจา เขายังถูกทำร้ายจนหมดสติ และเข้าโรงพยาบาลนานนับสัปดาห์
ซูซานน่า เยว่ นักข่าวชาวสเปน วัย 29 ปีที่เคยทำสารคดีเกียวกับชาวจีนพลัดถิ่นเมื่อปี 2019 บอกกับสถานี CNN ว่า ความรุนแรงต่อชาวเอเชียในสเปน กำลังกลายเป็น “เรื่องปกติ” และไม่ค่อยถูกนำเสนอผ่านสื่อสเปนมากนัก
เยว่ บอกว่า ปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายในอาชญากรรมจากความเกลียดชังในสเปนนั้น เกิดจากอุปสรรคทาง “ภาษา” และความกลัวว่าจะถูกส่งตัวกลับบ้านเกิด ทำให้หลายคนเลือกที่จะปิดเรื่องที่เกิดขึ้นให้เงียบเอาไว้
และยิ่งไม่ตอบโต้.. คนทำก็ยิ่งได้ใจ
เรื่อง : ภัทร จินตนะกุล
ภาพ : cottonbro
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- กราดยิงร้านนวดสปาในสหรัฐฯ ดับ 8 รวมหญิงเอเชีย 6 ราย
- ชายผิวขาวต่อยอาม่ากลางเมืองซานฟรานฯ เจอสู้กลับไม้ฟาดไม่ยั้งจนเจ็บหนักเอง
- รวมที่มา #StopAsianHate ทั่วโลกแห่แชร์ Stop ชนวนความเกลียดชังคนเอเชีย
- อีกแล้ว! ชายชราเอเชีย ถูกทำร้ายในรถไฟใต้ดินเลือดอาบ ที่แมนฮัตตัน
- แห่บริจาคช่วย “อาม่า” เหยื่อถูกทำร้ายในสหรัฐ เปิดเพจแค่ 4 วันยอดทะลุ 27 ล้าน!