รีเซต

หุ้นสหรัฐฯกังวลเพดานหนี้สาธารณะ “ทรัมป์” รับตำแหน่ง 20 ม.ค.

หุ้นสหรัฐฯกังวลเพดานหนี้สาธารณะ “ทรัมป์” รับตำแหน่ง 20 ม.ค.
ทันหุ้น
2 มกราคม 2568 ( 13:07 )
15

 

#หุ้นต่างประเทศ #ทันหุ้น - บทวิเคราะห์ โดย บล.เอเซียพลัส

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลงในช่วง 2 วันทำการสุดท้ายของปี 2567 จากแรงขายทำกำไรในช่วงสิ้นปี ความกังวลเรื่องประเด็นเพดานหนี้สาธารณะ และการส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังของ Fed โดย ณ 31 ธ.ค. ดัชนี DJIA -0.07%, S&P500 -0.43% และ Nasdaq -0.9%

 

สำหรับภาพรวมปี 2567 ดัชนี S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20% เป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงของ Fed, การผ่อนคลายความกังวลเรื่องภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังรายงานตัวเลขเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง และกระแสปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งทำให้เห็นราคาหุ้นอย่าง Nvidia +171% YTD ขณะที่แรงเก็งกำไรในช่วงปลายปีจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคาร อย่าง JPMorgan +41% และ Goldman Sachs +48% ส่วนหุ้น Tesla +63%

 

ด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า Fed จะชะลอการปรับลด อัตราดอกเบี้ยลง (Hawkish cut) ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง และความกังวลจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่น่าจะเกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ Trump ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ฯ (DXY) +0.33% แตะที่ระดับ 108.49 จุด ณ สิ้นปี 2567 โดยตลาดการเงิน (Fed Watch Tool) เช้านี้ ให้น้ำหนักเกือบ 90% ว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมปลายเดือน ม.ค. ขณะที่มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในการประชุมเดือน พ.ค. ซึ่งให้น้ำหนัก 47% ว่าจะมีการหั่นอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps สู่ระดับ 4.00- 4.25%

 

ประธานาธิบดี Xi Jinping ได้กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในเทศกาลปีใหม่ว่า เศรษฐกิจจีนจะบรรลุเป้าหมายเติบโตในปี 2567 ที่ทางรัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ ~5% ได้สำเร็จ โดยแสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจยังคงมีเสถียรภาพและมีพัฒนาการในทางที่ดี ขณะที่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในหลายภาคส่วนก็ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจ้างงานและเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน ขณะที่ได้ กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเชิงรุกมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟิ้นตัวต่อไป

 

อย่างไรก็ดี หากอิงจาก Bloomberg consensus พบว่า นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 4.8% ในปี 2567 และ 4.5% ในปี 2568 ซึ่งเป็น ระดับค่ากลาง (Median) คาดการณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่มีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. สะท้อนถึงมุมมองที่ยังระมัดระวังต่อการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจจีนได้สำเร็จ นอกจากนี้ Xi ยังได้เน้นย้ำถึงนโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" อย่างไม่เปลี่ยนแปลงในฮ่องกง และมาเก๊า โดยกล่าวว่า "เราชาวจีนทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวันต่างก็เป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่มีใครสามารถตัดขาดสายสัมพันธ์ฉันญาติมิตรระหว่างเราได้ ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงในเรื่อง ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะเข้ามาสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดในปี 2568 หากสหรัฐฯเข้ามาให้การสนับสนุนเกี่ยวกับด้านการทหารแก่ไต้หวัน

- ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตเดือน ธ.ค.ของจีนอยู่ที่ระดับ 50.1 จุด ต่ำกวาตลาดคาดและชะลอตัวลงเล็กน้อยจากระดับ 50.3 ในเดือนก่อน

 

- ติดตามความคืบหน้าการเจรจาการเกี่ยวกับประเด็นเพดานหนี้ในสหรัฐฯซึ่งก่อนหน้านี้ ทาง Janet Yellen รมว. คลัง ได้ส่งเอกสารถึงสมาชิกสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ว่าอาจต้องใช้มาตรการพิเศษ (Extraordinary measures) อย่างเร็วที่สุดในวันที่ 14 ม.ค. 2568 เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ เผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากการระงับใช้เพดานหนี้ (Debt limit suspension) จะสิ้นสุดลงในคืนวันที่ 1 ม.ค. 2568

 

ทั้งนี้ Yellen ระบุว่า หนี้สาธารณะน่าจะแตะระดับเพดานหนี้ใหม่ระหว่างวันที่ 14-23 ม.ค.ซึ่งในช่วงนั้นทางกระทรวงการคลังจำเป็นต้องเริ่มใช้มาตรการพิเศษ เช่น การหยุดการลงทุนใหม่ในบัญชีเงินบำนาญหรือกองทุนอื่นๆ เพื่อให้มีเงินสดมากขึ้นสำหรับการดำเนินการชำระหนี้ปัจจุบัน หรือการเลื่อนการลงทุนในบัญชีเงินบำนาญของพนักงานรัฐบาลหรือการเงินของกองทุนประกันสังคม เพื่อใช้เงินสดที่มีอยู่ในการชำระหนี้อื่นๆ ก่อน เป็นต้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวนับเป็นปัจจัยลบกดดัน Sentiment ของตลาดในช่วงนี้

 

- ทั้งนี้ การกลับเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ Trump ภายใต้นโยบาย American Firstคาดว่าจะส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกเพิ่มมากในปี 2568 โดยเฉพาะนโยบายการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าและการดำเนินนโยบายที่จะทำให้ขาดดุลการคลังมากขึ้นนำไปสู่การออกพันธบัตรเพื่อมาไฟแนนซ์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้เป็นปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้ง Bond Yield ให้ทรงตัวในระดับสูง

 

- ในแง่กลยุทธ์การลงทุนในสหรัฐฯ แนะนำ 1) หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งด้านรายได้และกำไร มีมูลค่าที่ต่ำ และมีโมเมนตัมเชิงบวกในการปรับประมาณการ 2) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากแผนการลดอัตราภาษีนิติบุคคล (รวมทั้งได้ประโยชน์จากนโยบายของ Trump) และมีรายได้หลักจากในประเทศ เพื่อลดทอนผลกระทบจากการตอบโต้ด้านกำแพงภาษีจากคู่ค้าสหรัฐฯ และ 3) หุ้นปลอดภัย (Defensive) จากแนวโน้มความผันผวนมากขึ้นจากนโยบายของ Trump และแนวโน้มความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น

 

- ทาง Bloomberg consensus (23 ธ.ค.) ได้ประเมินระดับเป้าหมาย (Bottom-up) ของดัชนี S&P500 ในระยะ 12เดือนข้างหน้าที่ 6,666 จุด หรือคิดเป็น Upside 12.4% โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ที่ 12.2% YoY (VS. 9.3% ปี 2567)

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในช่วงไตรมาสแรก ได้แก่ 1) ความคืบหน้าในการพิจารณายกเว้นเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ออกไปอีกครั้ง หรือปรับเพิ่มเพดานหนี้ 2) นโยบายเร่งด่วนในเชิงปฏิบัติหลัง Trump เข้าพิธีสาบานตน (20 ม.ค.) อาทิ การปรับขึ้นกำแพงภาษี การปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคล 3) การส่งสัญญาณต่อทิศทางนโยบายการเงินในการประชุม Fed (28-29 ม.ค. และ 18-19 มี.ค.) ซึ่งหากนโยบายมีความ Hawkish มากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดกรณีที่ Fed มีการส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงที่อาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือจะกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นับเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงด้านลบที่สำคัญ 4) ครบกำหนดร่างงบประมาณชั่วคราว (14 มี.ค.) ซึ่งกระทบต่อ Government Shutdown ในสหรัฐฯ 5) เป้าหมายและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่จะประกาศออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะในการประชุม NPC เดือน มี.ค. และ 6) การกลับมาเข้มงวดด้านโยบายการเงินของ BoJ

 

- วันนี้มีรายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อกาคการผลิต (PMI Manufacturing) ในเดือนธ.ค. ของประเทศหลัก อาทิ จีน (ตลาดคาด 51.7 จุด vs. เดือนก่อน 51.5 จด) ยูโรโซน (ตลาดคาดทรงตัวที่ 45.2 จุด) และสหรัฐฯ (ตลาดคาด 48.3 จุด vs. เดือนก่อน 49.7 จุด) อนึ่ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันพฤหัสบดีที่ 9 ม.ค. เพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดี Jimmy Carter

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง