รีเซต

"ยื่นคำร้องขอจัดการมรดก" ได้เองผ่านระบบ e-Filing ไม่ต้องไปศาลใน 2 กรณี

"ยื่นคำร้องขอจัดการมรดก" ได้เองผ่านระบบ e-Filing ไม่ต้องไปศาลใน 2 กรณี
TNN ช่อง16
4 กรกฎาคม 2566 ( 11:08 )
83
"ยื่นคำร้องขอจัดการมรดก" ได้เองผ่านระบบ e-Filing ไม่ต้องไปศาลใน 2 กรณี

ศาลยุติธรรมเพิ่มความสะดวกประชาชนยื่นคำร้องขอจัดการมรดกได้เองผ่านระบบ e-Filing ไม่ต้องไปศาลใน 2 กรณี ไม่มีทายาทคัดค้าน หรือมีพินัยกรรมกำหนดให้เป็นผู้จัดการมรดก เผยล่าสุดขยายเขตอำนาจศาลรองรับคำร้องอีก 42 ศาลจังหวัด


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติซึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่ 6 การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ได้ผลักดันให้ส่วนราชการ องค์กรอิสระ รัฐวิสาหากิจซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน มุ่งเน้นนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นช่องทางให้บริการ ทำให้ขณะนี้หลายหน่วยงานออกบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือดิจิทัล ช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ลดเวลาการรอคอยติดต่อหน่วยงาน และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง


ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมได้นำระบบการรับส่งคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบ e-Filing มากให้บริการคู่ความและผู้เกี่ยวข้อง โดยพัฒนาระบบสู่เวอร์ชั่นที่3 และระบบล่าสุดนี้ได้รองรับบริการให้ประชาชนทั่วไป(ไม่ใช่ทนายความ) ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกสามารถยื่นคำร้องขอจัดการมรดกได้ด้วยตนเองได้ใน 2 กรณี คือ 


1.ทายาททุกคนยินยอมให้ผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการมรดก (ไม่มีการคัดค้าน) 


2.มีข้อกำหนดในพินัยกรรมให้ผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการมรดก


ในช่วงต้นปี 66 สำนักงานศาลยุติธรรมได้ทดลองนำร่องให้มีการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกผ่าน e-Filing ใน 10 ศาลจังหวัด ได้แก่ ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี, ศาลจังหวัดชัยบาดาล, ศาลจังหวัดไชยา, ศาลจังหวัดตะกั่วป่า, ศาลจังหวัดปากพนัง, ศาลจังหวัดฝาง, ศาลจังหวัดหล่มสัก, ศาลจังหวัดวิเชียรบุรี, ศาลจังหวัดสวรรคโลก, ศาลจังหวัดฮอด และกลุ่มศาลแพ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ 6 ศาล ประกอบด้วย ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี


ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 66 เป็นต้นไป ได้ขยายเขตอำนาจศาลที่ประชาชนสามารถยื่นคำร้องขอจัดการมรดผ่าน e-Filing เพิ่มเติมอีก 42 ศาลจังหวัด ในพื้นที่ภาค 1-8 โดย


ภาค 1 ประกอบด้วย ศาลจังหวัดชัยนาท, ศาลจังหวัดนนทบุรี,ศาลจังหวัดปทุมธานี, ศาลจังหวัดธัญบุรี, ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ศาลจังหวัดลพบุรี, ศาลจังหวัดสมุทรปราการ,ศาลจังหวัดสระบุรี, ศาลจังหวัดสิงห์บุรี, ศาลจังหวัดอ่างทอง 


ภาค 2 ประกอบด้วย ศาลจังหวัดปราจีนบุรี, ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา, ศาลจังหวัดชลบุรี, ศาลจังหวัดพัทยา,ศาลจังหวัดตราด, ศาลจังหวัดนครนายก, ศาลจังหวัดระยอง, ศาลจังหวัดสระแก้ว


ภาค 3 ประกอบด้วย ศาลจังหวัดชัยภูมิ, ศาลจังหวัดภูเขียว, ศาลจังหวัดสีคิ้ว, ศาลจังหวัดสีคิ้ว(ปากช่อง), ศาลจังหวัดบัวใหญ่, ศาลจังหวัดพิมาย, ศาลจังหวัดบุรีรัมย์, ศาลจังหวัดนางรอง, ศาลจังหวัดยโสธร, ศาลจังหวัดศรีสะเกษ, ศาลจังหวัดกันทรลักษ์, ศาลจังหวัดสุรินทร์,ศาลจังหวัดรัตนบุรี, ศาลจังหวัดอำนาจเจริญ, ศาลจังหวัดอุบลราชธานี, ศาลจังหวัดเดชอุดม


ภาค 4 ศาลจังหวัดมหาสารคาม, ภาค 5 ศาลจังหวัดแพร่, ภาค 6 ศาลจังหวัดกำแพงเพชร ภาค 7 ประกอบด้วย ศาลจังหวัดเพชรบุรี และ ศาลจังหวัดราชบุรี และ ภาค 8 ประกอบด้วย ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศาลจังหวัดเวียงสระ และในอนาคตศาลจังหวัดในพื้นที่ภาค 1-9 อีก 58 ศาล จะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มเติมต่อไป


สำหรับขั้นตอนการใช้บริการระบบ e-Filing 


ผู้ใช้ต้องลงทะเบียนที่เว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/citizen/ จากนั้นเข้าสู่ระบบกรอกข้อมูลที่จำเป็นและอัพโหลดเอกสารตามที่กำหนด ซึ่งต้องเตรียมเอกสารเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ PDF หรือ JPEG โดยประชาชนสามารถศึกษาข้อกำหนดการยื่นขอจัดการมรดกผ่านระบบ e-Filing ได้ที่ลิงก์ ดังนี้ http://oja.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/10112/iid/336875 




ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง