รีเซต

อย่าเห็นแก่ของถูก...ผู้บริโภคต้องระวัง..หลัง “หมูเถื่อน” เกลื่อนเมือง

อย่าเห็นแก่ของถูก...ผู้บริโภคต้องระวัง..หลัง “หมูเถื่อน” เกลื่อนเมือง
TNN ช่อง16
18 ตุลาคม 2565 ( 17:35 )
66

ผศ.น.สพ.ดร. สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย


จากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย ด้วยการหาของถูกเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน หากร้านใดมีเนื้อหมูราคาถูกขายย่อมได้รับความสนใจทันที แต่ในสถานการณ์ที่มี “หมูเถื่อน” เกลื่อนเมืองเช่นนี้ ผู้บริโภคจำเป็นต้องหยุดคิดสักนิดก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะของราคาถูกเหล่านั้นแฝงไปด้วยอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง 


หากคนไทยเน้นแต่ราคาถูกก็ได้ของแถมที่มากับเนื้อหมูเถื่อน คือ สารเร่งเนื้อแดง เนื่องจากในประเทศตะวันตกที่เป็นต้นทางของหมูเถื่อนอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเสรี เพราะมองว่า ช่วยลดต้นทุนให้ผู้เลี้ยงได้ และผู้บริโภคในตะวันตกไม่นิยมบริโภคเครื่องใน ทำให้ไม่เสี่ยงต่อการรับตกค้างมากนัก แต่อย่างไรก็ดี มีรายงานการวิจัยพบการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงทั้ง ในเครื่องในและกล้ามเนื้อต่างๆ ทั่วทั้งร่างกาย ดังนั้น ไม่ว่าจะบริโภคชิ้นส่วนใดก็มีโอกาสได้รับสารเร่งเนื้อแดงทั้งสิ้น

สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) ยกตัวอย่างเช่น แรคโตพามีน (Ractopamine) มีคุณสมบัติในการเพิ่มน้ำหนักตัวของสัตว์ โดยสารในกลุ่มนี้มีฤทธิ์เปลี่ยนไขมันเป็นกล้ามเนื้อ และลดการสะสมไขมันในเนื้อเยื่อ กระบวนการเลี้ยงหมูในอดีต นิยมใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดการสะสมไขมันและเพิ่มเนื้อแดงในตัวหมู โดยงานวิจัยพบว่า สารนี้ทำให้หมูกินอาหารน้อยลงแต่มีน้ำหนักตัวและปริมาณเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการใช้สารเร่งเนื้อแดงส่งผลเสียต่อตัวสัตว์ และอาจตกค้างทำอันตรายถึงผู้บริโภค 


ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงได้ออกกฏหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ เริ่มจาก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 กำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มนี้ ยกตัวอย่างเช่น เนื้อหมูต้องตรวจไม่พบสารเคมีกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ทุกชนิด ในขณะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์มาตั้งแต่ พ.ศ.2525 และพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับคนไทยหากได้รับสารนี้ที่ตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ สะท้อนถึงความอันตรายของ "สารเร่งเนื้อแดง"เนื่องจาก “สารเร่งเนื้อแดง” มีคุณสมบัติทนความร้อนสูงการต้ม อบ หรือทอด เปลี่ยนแปลงความเข้มข้นหรือทำให้สารกลุ่มนี้สลายไปไม่ได้ ทำให้สารตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์แม้นำไปผ่านการประกอบอาหารแล้วก็ตาม ส่งผลเสียไปถึงสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง เพราะมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อสั่น  กระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายมีอาการเป็นลม นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการทางจิตประสาท ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าหากร่างกายได้รับสารกลุ่มนี้เข้าไปในปริมาณสูงจะส่งผลต่อสุขภาพ และเป็นอันตรายมาก โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ลมชัก และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ขณะที่ในต่างประเทศมีรายงานการพบผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อน จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยอยู่เป็นระยะ

นอกจากนั้น หมูเถื่อน นำเข้าที่ถูกตรวจจับได้ยังพบว่า  เป็นเนื้อที่ใกล้หมดอายุหรือหมดอายุแล้ว ซึ่งไม่เป็นผลดีกับร่างกาย ดังนั้น ผู้บริโภคต้องไม่เห็นแก่ของถูกเกินไป โดยเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” หากไม่พบสัญลักษณ์ดังกล่าว ขอให้สังเกตเบื้องต้นจากสีของเนื้อหมูต้องไม่แดงจนผิดปกติ เมื่อกดต้องนุ่มไม่กระด้าง หรือส่วนสามชั้น ปกติแล้วมีเนื้อแดง 2 ส่วน และไขมัน 1 ส่วน หากเนื้อแดงมากกว่านี้ก็ควรหลีกเลี่ยง ที่สำคัญสังเกตจากราคาขายหากต่ำกว่าท้องตลาดมากจนผิดสังเกตก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะด้วยต้นทุนการผลิตสุกรในปัจจุบัน ไม่มีทางขายเนื้อหมูในราคากิโลกรัมละ 135-150 บาท ได้แน่นอน  


สุดท้าย อยากวิงวอน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ดำเนินการจัดการปัญหาลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” อย่างจริงจัง กวาดล้างถอนรากถอนโคนขบวนการดังกล่าวให้สำเร็จ เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยอาหารให้แก่คนไทย ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการฟื้นฟูการเลี้ยง ผลิตเนื้อหมูคุณภาพดีส่งต่อให้คนไทยในราคาที่เหมาะสม เพราะหมูไทยปลอดภัยกว่าแน่นอน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง