รีเซต

สารเร่งเนื้อแดง ภัยเงียบจากเนื้อหมูนำเข้า ความเสี่ยงของคนไทยในสงครามภาษี

สารเร่งเนื้อแดง ภัยเงียบจากเนื้อหมูนำเข้า ความเสี่ยงของคนไทยในสงครามภาษี
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2568 ( 17:09 )
13

ใน 1 จานอาหาร นอกจากความอิ่ม อร่อย แล้ว เรื่องของความปลอดภัยเรามั่นใจได้แค่ไหน? แน่นอนว่าคงไม่มีใครยืนยันได้ 100% เพราะอาหารที่ผ่านการปรุงหรือแปรรูปแทบมองไม่เห็นสารปนเปื้อนหรือภัยร้ายที่แฝงอยู่กับวัตถุดิบโดยเฉพาะ "สารเร่งเนื้อแดง" ได้เลย

นั่นเป็นที่มาของการออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่เข้ามาควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย รวมไปถึงสุขอนามัยของวัตถุดิบต่างๆ ที่ผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะข้อห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการทำฟาร์มเนื้อสัตว์


ความเสี่ยงของคนไทยเมื่อเปิดรับเนื้อหมูนำเข้า

สารเร่งเนื้อแดงเคยได้รับความนิยมในหมูเกษตรกรเลี้ยงหมู เพราะหมูที่ได้รับสารเร่งเนื้อแดงจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยใช้อาหารน้อย แต่สารเร่งเนื้อแดงถูกห้ามใช้ในไทยมาแล้วกว่า 22 ปี ในฐานะ "อันตรายทางเคมีในอาหาร" เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (สารเร่งเนื้อแดง)

มาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตเนื้อหมูของไทยให้มีความปลอดภัยที่สูงขึ้น แต่นั่นเป็นมาตรฐานในประเทศที่กำลังถูกท้าทายจากมาตรการของรัฐบาลที่เตรียมส่งคณะเจรจาการของรัฐบาลไทยที่มีแนวคิดนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เพื่อลดดุลการค้า หลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36%

นั่นอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นความเสี่ยงบนจานอาหารของคนไทย เพราะสหรัฐฯ ในฐานะผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ของโลก อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงได้ในปริมาณที่ควบคุม และมักจะกดดันให้ประเทศต่างๆ ลดความเข้มงวดของมาตรการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงลงในการเจรจาการค้า

สารเร่งเนื้อแดงภัยเงียบบนจานอาหาร
สารเร่งเนื้อแดงเป็นสารต้องห้ามที่ทำให้หมูเนื้อแน่นไว แต่เสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว

สารเร่งเนื้อแดงคือสารเคมีในกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ (β-agonist) เช่น เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), ซัลบูทามอล (Salbutamol), แรคโตพามีน (Ractopamine) ที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกาย สารเหล่านี้เดิมทีใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคหอบหืด โดยช่วยขยายหลอดลมและกระตุ้นการทำงานของหัวใจ

โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติให้ข้อมูลว่า สารเร่งเนื้อแดงทำให้คุณภาพซากหมูมีเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น ไขมันน้อยลง ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การเกิดเนื้อซีดฉ่ำน้ำ (PSE) ลดลง และ ขานยได้ราคาดี  ขณะที่หากสังเกตจะเห็นเนื้อสีแดงคล้ำกว่าปกติ เมื่อหั่นทิ้งไว้จะมีลักษณะเนื้อค่อนข้างแห้ง

แม้จะให้ผลทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่การใช้สารเร่งเนื้อแดงอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของสัตว์ เช่น ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเกิดภาวะเครียดจากความร้อน และหากสารตกค้างมาถึงผู้บริโภค ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางระบบหัวใจและประสาท เช่น ใจสั่น มือสั่น ปวดศีรษะ หรือแม้กระทั่งอันตรายต่อผู้ป่วยบางกลุ่ม



อุตสาหกรรมเนื้อหมูบนความเสี่ยงจากสงครามภาษี

ประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้มงวดเรื่องนี้ โดยห้ามใช้เด็ดขาดทั้งในกระบวนการเลี้ยงสัตว์และห้ามมีตกค้างในอาหาร ตามกฎกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯ เพราะถือว่าเป็น "อันตรายทางเคมีในอาหาร"

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติให้สัมภาษณ์กับ TNN ONLINE ว่า มาตรฐานการผลิตเนื้อหมูของไทยมีความปลอดภัยสูงกว่าเนื้อหมูสหรัฐ เพราะกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง เนื่องจากอาจส่งผลต่อระบบหัวใจและประสาทของมนุษย์ หากได้รับในปริมาณไม่เหมาะสม

ขณะที่สหรัฐฯ กลับอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงได้ตามกฎหมาย แม้สารเร่งเนื้อแดงจะยังเป็นที่ถกเถียงในระดับสากลถึงข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้บริโภค ผลกระทบต่อสัตว์ และความปลอดภัยระยะยาว

ทั้งนี้พบว่ามีหลายประเทศที่ห้ามใช้หรือห้ามนำเข้าสินค้าจากสัตว์ที่ได้รับสารนี้ เช่น สหภาพยุโรป จีน และรัสเซีย

"ประเทศไทยการตระหนักในความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทยที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรักษามาตรฐานนี้ต่อไป" นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยืนยัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง