รีเซต

จาก “อดิเรก” สู่ “อาชีพ” ของคนวัยกิ๊ก

จาก “อดิเรก” สู่ “อาชีพ” ของคนวัยกิ๊ก
TNN Wealth
6 กันยายน 2564 ( 11:40 )
51
จาก “อดิเรก” สู่ “อาชีพ” ของคนวัยกิ๊ก
 
วันนี้ ผมเชื่อว่าพ่อแม่หลาย ๆ คน คงบ่นและหงุดหงิดลูก ๆ ที่ไม่เชื่อฟัง โดยเฉพาะเรื่องสาขาที่เรียน อาชีพ การงาน และอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ลูก ๆ มักจะมองความสำเร็จของพ่อแม่มาเป็นบรรทัดฐานในการเลือกสาขาที่เรียน จะเห็นได้ว่าพ่อแม่ที่เป็นหมอ เป็นข้าราชการ ตำรวจ ทหาร หรือพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จ
 
 
ลูก ๆ มักจะเดินตามรอย แต่ในปัจจุบันไม่เป็นอย่างที่เห็น วิธีคิด การมองอนาคต และพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ไม่เหมือนเดิม ความสำเร็จของพ่อแม่ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในอาชีพการงานของพวกเขามากไปกว่าข้อมูลข่าวสาร และผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเซี่ยลมีเดียเลย และดูเหมือนจะน้อยกว่าไปด้วยซ้ำ
 
 
ยิ่งคนวัยรุ่นที่อยู่ในเจนเนอร์เรชั่น Z กับ Gen Y ตอนต้นที่อายุระหว่าง 18 ถึง 30 ปีด้วยแล้ว เป็นกลุ่มที่เทคโนโลยีดิจิตอลและโซเซียลมีเดียคือชีวิตจิตใจของพวกเขา ของเหล่านี้โตและพัฒนามาพร้อมกับพวกเขา ข้อมูล เรื่องราว ทุกอย่างที่อยากรู้ สามารถค้นหาได้ง่ายและไวจากปลายนิ้ว
 
 
นอกจากนี้ การเล่นเกมส์ที่ไม่เหมือนในอดีต การสร้างโลกหรือสังคมเสมือนจริงในโลกดิจิตอล กลายเป็นสิ่งปกติของพวกเขา ทำให้จินตนาการที่พวกเขามีอยู่ไกลไร้ขอบเขต สร้างอิสระในจินตนาการ และวิถีชิวิตอื่น ๆ ไม่อยากมีกฏกติกามากำหนดมากมาย มองตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง การยอมรับของผู้คนที่เป็นกลุ่มจน เพื่อนสำคัญกว่าพ่อแม่ จนนักการตลาดอาศัยประโยชน์จากพฤติกรรมเหล่านี้เรียกว่า ME Marketing
 
 
ในยุคที่งานหายากและเด็กเหล่านี้ไม่ต้องการทำงานประจำเพราะเบื่อกติกา ระเบียบ คนเหล่านี้ พยายามมองไปที่การเป็นยูทูปเบอร์ ทำเฟสบุ๊คท่องเที่ยว รีวิวสารพัด หรืออกเพลง คลิปต่าง ๆ แต่ผมว่าวันนี้ไม่ใช่จะสำเร็จง่าย ๆ เนื่องจากมีคนทำแล้วหลายล้านคน ใคร ๆ ก็ทำ แต่มีคนประสบความสำเร็จจนเป็นอาชีพได้ไม่มาก ทำให้คนใหม่ ๆ สอดแทรกเข้าไปยาก
 
 
แต่ผมว่าการเติบโตของพวกออนไลน์เหล่าก็น่าจะสร้างโอกาสให้เด็กรุ่นนี้เข้าไปสร้างอาชีพของตนเองได้ โดยการต่อยอดหรือสนับสนุนของธุรกิจออนไลน์เหล่านี้ ซึ่งคิดว่าน่าจะเหมาะกับเด็กวัย Gig Economy คือ ชอบ อยากทำ สนุก อิสระ ทำเมื่ออยากทำ และได้เงิน ธุรกิจเหล่านี้อาจเริ่มเป็นงานอดิเรกก่อนก็ได้ อาทิ เช่น
 
 
1. Clip editor: ตอนนี้มีคนออกคลิปจำนวนมากในโซเซี่ยลมีเดียต่าง ๆ แต่ที่ทำออกมาได้ดีและน่าดู น่าติดตามต้องเป็นคลิปที่มีเนิ้อหาน่าสนใจและมีการตัดต่อที่ดี ไว กระชับ เพราะคนยุคนี้ไม่ทนดูอะไรนาน ๆ หลายช่องยูทูป เพจ หรือเฟสบุค ล้มเหลว น่าเบื่อเพราะคลิปไม่น่าติดตาม ทำให้ต้องการคนเก่งเทคนิคในการตัดต่อ ทำเนื้อหา เรื่องราวให้น่าสนใจ เหมาะกับลูกค้าเป้าหมาย โดยส่วนตัวผมแล้ว ขนาดคลิปไฮไลท์ฟุตบอลความยาว 8-9 นาที ผมยังฟอเวริด์ดูไม่เกิน 1.30 นาทีเลย นับประสาอะไรกับคนที่อายุน้อยกว่า
 
 
2. Social media managers: หลายบริษัท ดารา หรือศิลปินหลายคนพยายามสร้างช่องทางการเข้าหาลูกค้าผ่านโซเซียลมีเดียจำนวนมาก การที่จะให้มีผู้ติดตามจำนวนมากนั้นต้องการปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเนื้อหาและเรื่องราวที่จะนำเสนอในแต่ละช่วงเวลาและโอกาส การบริหารภาพลักษณ์ การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือแฟนคลับ การหาโฆษณา การปั่นกระแสและคอมเน้นท์ ฯลฯ ทั้งหมดจำเป็นต้องสอดประสานกัน ทำให้จำเป็นต้องมีผู้บริหารเพจหรือช่องทางทั้งหมดในภาพรวมให้
 
 
3. การลงทุนในทรัพย์สินสมัยใหม่: วันนี้มีช่องทางการลงทุนทางด้านจิติตอลจำนวนมากและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Cryptocurrency หรือ NTF ที่กำลังมาแรง สามารถแปลงทุกอย่างเป็นสินทรัพย์ด้านดิจิตอลได้ ไม่ว่าภาพศิลป์ การ์ดสะสม หรือแม้แต่ผู้เล่นในเกมต่าง ๆ ที่เล่น ๆ กัน ก็สามารถซื้อขายกันสิทธิ์กันได้ แต่ก็ต้องรู้เรื่องดี ๆ ก่อนกระโดดลงไป ระยะแรกอาจเป็นการชิมลางแบบงานอดิเรกก่อน จนกว่าจะเรียนรู้จริงๆ แล้วค่อยเป็นนักลงทุนอาชีพก็จะดี
 
 
4. ติวเตอร์ออนไลน์: อาจจะเริ่มมาจากการเป็นงานอดิเรกก่อนหรืองานเสริมจนกระทั่งสามารถสร้างชื่อเสียงจากปากต่อปากของลูกค้ากลายเป็นธุรกิจที่มีบ้านเป็นฐาน เช่น การสอนพิเศษหรือเป็นติวเตอร์ออนไลน์หรือ การสอนการออกกำลังกาย หรือการเต้นต่าง ๆ ตอนนี้ยิ่งดีเพราะโรงเรียนติวเตอร์ต่าง ๆ มีปัญหาโควิด เด็ก ๆ ชินกับการเรียนออนไลน์แล้ว โอกาสมีมากขึ้น แต่คนสอนก็ต้องแน่ใจว่าตัวเองรู้เรื่องจริง ๆ ในเรื่องที่จะสอน เพราะกลยุทธ์ที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้คือ ปากต่อปาก (Words of Mouth)
 
 
อันที่จริงยังมีอีกหลายอาชีพที่สามารถตอบสนองความต้องการของพฤติกรรมคนในยุคเศรษฐกิจขี้เกียจนี้ได้ ซึ่งวันก่อนผมเห็นในรายการซีรี่ย์เกาหลีเรื่องหนึ่ง นางเอกตั้งบริษัทของตัวเอง มีพนักงานคนเดียวคือตัวเอง เรียกกว่า “บริษัทจัดหาทุกอย่าง” รับทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่เฝ้าบ้าน เลี้ยงหมา พาหมาเดิน เฝ้าคนแก่ ตามหาคน ทำธุระส่วนตัวให้ ให้อาหารแมวหมาที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ ไปซื้อของให้ หรือจดวาระงาน รับนัด และเตือนเมื่อถึงเวลา เรียกว่าเลขาฯ ออนไลน์ก็ได้ งานเหล่านี้ก็มีให้เห็นในหลายประเทศแล้ว
 
 
วันนี้งานเหล่านี้จะมีให้เห็นมากขึ้นในวิถีแบบ Gig Economy แม้จะแปลกสำหรับเจนอื่น ๆ แต่จะเป็นปกติของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการงานอิสระ สบายใจ และรายได้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของตัวเองเป็นสำคัญ คงตรงลักษณะนิสัยของ Gen Z แต่ผมเชื่อว่าเมื่อเวลาและวัยผ่านไป ความรับผิดชอบ ประสบการณ์ที่เปลี่ยนไป ก็อาจเปลี่ยนไปวิธีคิดและพฤติกรรมไปตาม Gen ที่ตนเองเดินเข้าไป ดังนั้นมักมีคนเตือนว่า อย่ามองพฤติกรรมของคน Gen ที่แก่กว่าว่าเป็นไดโนเสาร์ เพราะเราก็กำลังอาจพัฒนาตัวเองไปเป็นไดโนเสาร์ของคนรุ่นใหม่

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง