รีเซต

ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่าย "หัวใจหมู" คนแรกของโลก เสียชีวิตแล้วด้วยเหตุจากภาวะติดเชื้อ

ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่าย "หัวใจหมู" คนแรกของโลก เสียชีวิตแล้วด้วยเหตุจากภาวะติดเชื้อ
TNN ช่อง16
10 มีนาคม 2565 ( 16:53 )
209
ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่าย "หัวใจหมู" คนแรกของโลก เสียชีวิตแล้วด้วยเหตุจากภาวะติดเชื้อ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เดวิด เบนเน็ตต์ ชายชาวอเมริกัน ได้รับเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจโดยใช้หัวใจหมูเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของวงการแพทย์ ทว่า ล่าสุดเบนเนตต์ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2022




สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตของเบนเน็ตต์นั้น ทางโรงพยาบาลยังไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ แต่คำกล่าวจากวิดีโอของแพทย์ผู้ทำการรักษาได้เผยสาเหตุของการเสียชีวิตไว้ว่า เบนเนตต์ประสบกับภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากแพทย์ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง จนนำไปสู่การติดเชื้อที่ยากเกินควบคุม


ถึงกระนั้นแพทย์ยังกล่าวชื่นชมถึงความกล้าหาญของเบนเน็ตต์ที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ เนื่องจากหัวใจเดิมของเขาแทบจะไม่สามารถทำงานได้อีกแล้ว และเขามีทางเลือกไม่มากนักระหว่างรอให้ตนเองจากไปอย่างช้า ๆ หรือเข้าร่วมการทดลองรับการปลูกถ่ายหัวใจหมูเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเบนเน็ตต์ตัดสินใจเลือกเข้าร่วมการทดลองในครั้งนี้

David Bennett (ขวา) ผู้เข้ารับการปลูกถ่ายหัวใจหมู และศัลยแพทย์
ที่มาของภาพ University of Maryland 

 


เดิมทีการปลูกถ่ายโดยใช้อวัยวะจากสิ่งมีชีวิตคนละสายพันธุ์ (Xenotransplantation) ไม่เคยเป็นผลสำเร็จเสียที เพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ที่ได้รับการปลูกถ่าย จะสามารถตอบสนองต่ออวัยวะปลูกถ่ายจากสัตว์สายพันธุ์อื่นได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง แม้จะใช้ยากดภูมิช่วยลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแล้วก็ยังไม่สามารถลดการตอบสนองได้


ทว่า กรณีการปลูกถ่ายหัวใจหมูให้แก่เบนเน็ตต์นี้แตกต่างออกไป นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กระบวนการด้านพันธุวิศวกรรมปรับแต่งยีนจำนวน 10 ตำแหน่งในเซลล์หัวใจหมู เพื่อกำจัดส่วนที่อาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ดังนั้น เมื่อนำมาปลูกถ่ายก็จะลดโอกาสการทำลายอวัยวะปลูกถ่ายโดยภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และสามารถใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันได้ง่ายขึ้นด้วย

ที่มาของภาพ University of Maryland 

 

หลังจากที่เบนเน็ตต์เข้ารับการปลูกถ่ายจนเป็นผลสำเร็จในวันที่ 7 มกราคม 2022 ร่างกายของเขาดูเหมือนว่าจะทำงานได้เป็นปกติทุกอย่าง โดยไม่มีสัญญาณการทำลายหัวใจหมูที่ปลูกถ่ายเข้าไปเลย เบนเน็ตต์สามารถใช้เวลาอยู่กับครอบครัวที่เข้ามาเยี่ยมเยียนในโรงพยาบาล, เข้ารับการทำกายภาพบำบัด, รับชมถ่ายทอดสดงานแห่งขันกีฬา Super Bowl เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเขาอยากออกจากโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเพื่อกลับบ้านไปพบกับสุนัขแสนรักที่มีชื่อว่า ลักกี้ 


อย่างไรก็ตาม แม้การใช้ยากดภูมิคุ้มกันจะช่วยลดการทำลายหัวใจหมูที่ปลูกถ่ายได้ แต่ในทางการแพทย์ล้วนทราบดีถึงผลกระทบที่จะตามมา นั่นคือภาวะติดเชื้อ เพราะการใช้ยากดภูมิจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อโรคได้ไม่ดี (คล้ายกับกรณีผู้ป่วยติดเชื้อ HIV) ทำให้เกิดการติดเชื้อต่าง ๆ ทั้งเชื้อปกติ, เชื้อดื้อยา และเชื้อฉวยโอกาส ผนวกกับร่างกายของเบนเน็ตต์ที่ยังไม่แข็งแรง จึงทำให้เขามีอาการแย่ลงตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในวันที่ 8 มีนาคม 2022

ที่มาของภาพ University of Maryland 

 

ทั้งนี้ การเสียชีวิตของเบนเน็ตต์ไม่ได้สูญเปล่าโดยสิ้นเชิง เขาสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาไปไกลมาก เพราะหากพิจารณาแล้วการปลูกถ่ายหัวใจหมูในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ร่างกายของเขาสามารถเข้ากันกับหัวใจหมูได้ดี และไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดหลังการปลูกถ่ายเลย (แต่ประสบกับภาวะติดเชื้อซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน)


ปัจจุบันมีผู้ป่วยกว่า 100,000 รายทั่วสหรัฐอเมริกาที่กำลังรอการปลูกถ่ายอวัยวะ และมีอย่างน้อย 6,000 รายที่ต้องเสียชีวิตไปในระหว่างรอให้มีอวัยวะที่เหมาะสมแก่การปลูกถ่าย เพราะฉะนั้น ความกล้าหาญของเบนเน็ตต์ในครั้งนี้ จึงนำไปสู่การพัฒนาครั้งใหม่ในการนำอวัยวะของสัตว์มาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งเชื่อว่ามันจะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อีกนับล้านทั่วโลกเลยทีเดียว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก New York Times

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง