รีเซต

ทะเลไทยร้อนสุดรอบ 40 ปี วิกฤต ! ปะการังฟอกขาวเสี่ยงไม่ฟื้น

ทะเลไทยร้อนสุดรอบ 40 ปี วิกฤต ! ปะการังฟอกขาวเสี่ยงไม่ฟื้น
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2567 ( 09:33 )
39

"ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว" ผลกระทบชัดเจนจากโลกร้อน ทะเลเดือด

 

โลกร้อนทำอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนขึ้น มีข้อมูลทะเลไทยร้อนจัดต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน โดยร้อนเกินวิกฤต 30.5-31 องศาเซลเซียส ทั้งกลางวันและกลางคืน ถือเป็นอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในรอบ 40 ปี ตั้งแต่ปี 1985 หรือ พ.ศ.2528 ที่มีการใช้ดาวเทียมวัดอุณหภูมิน้ำเป็นครั้งแรก

 

วิกฤตน้ำทะเลร้อนส่งผลกระทบปะการังเกิดการฟอกขาว จากระดับความรุนแรง 5 ระดับ ปัจจุบันเดือนพฤษภาคมไทยอยู่ในระดับที่ 3 สีส้มแดง หรือ Warning และคาดว่าจะเริ่มเกิดการปะการังฟอกขาวทั่วทั้งประเทศไทย โดยเดือนมิถุนายนปะการังจะฟอกขาวรุนแรงที่สุด คือ ระดับ 5

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลในรายการ TNN ข่าวเที่ยง ว่า ปัจจุบันน้ำทะเลร้อนมาก และเข้าสู่จุดสูงสุดเส้นวิกฤตปะการังฟอกขาวถึงร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ประการังทั้งทะเลด้านอ่าวไทยและอันดามันแล้ว โดยสถานการณ์ทะเลอ่าวไทยรุนแรงมากกว่า เพราะน้ำทะเลตื้นกว่า ปะการังแช่ในน้ำร้อนตลอดเวลา ขณะที่ด้านอันดามันบริเวณใกล้ฝั่งพบการฟอกขาวมากกว่า แต่ห่างฝั่งที่อยู่ในระดับน้ำที่ลึกลงไป เริ่มพบมีสีซีดจาง

 

“ประเทศไทยไม่เคยมีน้ำทะเลร้อนขนาดนี้มาก่อน บางพื้นที่ 34 องศาเซลเซีลหรือมากกว่า อัตราการรฟอกขาวของปะการังเกิดขึ้นเร็วมากกว่าในอดีต ที่เคยใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะเปลี่ยนจากปกติเป็นสีซีด ถึงฟอกเป็นสีขาวทั้งก้อน แต่วิกฤตครั้งบางพื้นที่ใช้เวลาเพียง 2-3 วัน เท่านั้น หากน้ำทะเลยังร้อนอยู่แบบนี้ สุดท้ายปะการังจะกลายเป็นสีขาวทั้งหมด”


 

ต้องลดอุณหภูมิน้ำทะเล เยียวยาสถานการณ์ ลุ้นฝนตก พ.ค.-มิ.ย. ช่วย !!

 

ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจาก "เอลนีโญ" ที่ส่งอิทธิพลให้เกิดความร้อน แล้ง ฝนน้อย สู่  “ลานีญา” ที่เกิดฝนและน้ำมาก จะช่วยทะลไทยคลายร้อนได้หรือไม่ ? ผศ.ดร.ธรณ์ ตอบชัด "ไม่ช่วย" เพราะกว่าลานีญาจะมาก็ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งไม่ทันต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ฤดูฝนพฤษภาคม-มิถุนายน คือความหวังช่วยอุณหภูมิน้ำทะเลให้เย็นลง เพื่อเยียวยาปะการังที่ฟอกขาวให้มีโอกาสฟื้น แต่ข้อแม้ว่าต้องเป็นฝนที่มาแบบยาว ต่อเนื่อง หากระยะวิกฤตนี้ น้ำทะเลยังร้อนอยู่ ไม่เย็นลง ไทยจะเผชิญกับปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และอาจจะหนักกว่าปี 2553 


 

ย้อนปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในไทย

 

ตามข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยเกิดปะการังฟอกขาวขึ้นครั้งแรกในปี 2534 ทางฝั่งทะเลอันดามัน จากนั้นเกิดอีกในปี 2538, ปี 2541 เกิดรุนแรงที่ฝั่งอ่าวไทย , ปี 2546, 2548, 2550, 2553 และ ปี 2559 ซึ่งความรุนแรงแต่ละปีมากน้อยต่างกัน โดยปี 2553 ถือว่าเป็นปีที่ปะการังฟอกขาวครั้งรุนแรงที่สุดของไทย เพราะเกิดความเสียหายมากทั้งทางฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย

 

ขณะที่ประการังฟอกขาวครั้งใหญ่ระดับโลกเกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง คือ ในปี 2541, 2553 และ 2559 


 

"ปะการังฟอกขาว" ใช้เวลานานนานแค่ไหน กว่าจะฟื้น ?

 

ผศ.ดร. ธรณ์ ยกตัวอย่าง ปะการังเกาะสุรินทร์ที่ฟอกขาวเมื่อปี 2553 จนปีนี้ 2567 เกือบ 15 ปี ปะการังก็ยังฟื้นกลับมาไม่เหมือนเดิม ส่วนอ่าวไทยที่เสียหายหนักเมื่อปี 2541 บางแห่งพบว่า ปะการังไม่มีทางฟื้นกลับคืนมาเหมือนเดิม บางจุดฟื้นแบบที่เปลี่ยนโฉมหน้าไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งการที่ปะการังจะฟื้นคืนให้เหมือนเดิมแบบก่อนถูกฟอกขาว ต้องใช้เวลานานมาก และต้องได้รับการดูแลของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมากในทุกด้าน

 

"ยิ่งปะการังใกล้ฝั่ง การฟื้นจากการถูกฟอกขาวกลับมาเหมือนเดิมมีโอกาสยากมาก เพราะต้องเผชิญกับน้ำทิ้งจากการพัฒนาของชุมชนเมืองต่าง ๆ มากมาย ปะการังที่สูญเสียไปแล้วก็จะไม่คืนกลับมา"

 

ไม่ใช่แค่ปะการัง น้ำทะเลร้อนยังทำให้ดอกไม้ทะเลเกิดการฟอกขาว !! ซึ่งการฟอกขาวของดอกไม้ทะเลไม่ใช่ภาวะปกติ แต่เป็นภาวะอ่อนแอกว่าปกติ ส่งผลกระทบถึงปลาการ์ตูน หรือ ปลานีโม่ ที่อาศัยดอกไม้ทะเลเป็นบ้าน บ้านที่อ่อนแอ ย่อมทำให้ผู้อยู่อาศัยอ่อนแอจนถึงอยู่ต่อไม่ได้ กลไกการพึ่งพาในระบบนิเวศทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นปะการัง ดอกไม้ทะเล สัตว์ทะเล ต่างอยู่ในภาวะวิกฤตจากน้ำทะเลร้อน !


 

ทำอะไรได้บ้าง ? ในวิกฤตปะการังฟอกขาว

 

ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า หากดูระยะห่างการเกิดประการังฟอกขาวรุนแรงเมื่อปี พ.ศ. 2559 และล่าสุดที่ NOAA เพิ่งประกาศให้ปีนี้ พ.ศ. 2567 เป็นความเสียหายระดับรุนแรงครั้งที่ 4 จะเห็นว่าห่างกันไม่ถึง 10 ปี นั่นหมายถึงยิ่งโลกร้อนมากขึ้นเท่าไหร่ ปะการังฟอกขาวระดับหายนะก็จะเกิดถี่ขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงาน เครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างคาดการณ์และหารือวางแผนในขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

 

1. ลดผลกระทบโดยเฉพาะจากการท่องเที่ยว ซึ่งหากพบปะการังฟอกขาวในพื้นที่เกินร้อยละ 50 ต้องพิจารณาลดจำนวนนักท่องเที่ยวลง ถ้าเกินร้อยละ 70-80 ต้องเพิ่มขั้นตอนอาจต้องปิดการท่องเที่ยว โดยไล่ไปตามลำดับสถานการณ์ฟอกขาว และพิจารณาตามจำนวนปะการังฟอกขาว

 

2. มีการทดลองย้ายปะการังที่อยู่ในสภาพย่ำแย่ นำไปอยู่ในจุดที่น้ำลึกกว่า หรือ ขึ้นมาพักฟื้นในบ่อที่มีน้ำเย็น แม้วิธีนี้อาจทำได้เพียงไม่กี่ก้อนจากปะการังที่ฟอกขาวไปแล้วร้อยละ 70 -80 แต่ถ้าย้ายได้ 5 - 10 ก้อน ก็ดีกว่าปล่อยให้ตายทั้งหมด ซึ่งวิธีนี้ต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก ต้องมีพื้นที่รองรับ และอยู่ในระดับงานวิจัย แต่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญ 

 

3. การเก็บสะสมพ่อแม่พันธุ์ปะการัง ซึ่งเริ่มมีการเก็บสายพันธุ์เพื่อศึกษาบ้างแล้ว รวมถึงการมองหาและพัฒนาสายพันธุ์ปะการังที่ทนน้ำร้อนได้ดีมากขึ้น ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และมีราคาแพง

 

ผศ.ดร.ธรณ์ ยอมรับว่า แม้วิธีการจะยังไม่เห็นผลเป็นพื้นที่กว้าง ๆ แต่ก็เป็นงานนำร่องสู่อนาคตรับมือกับน้ำทะเลที่คาดว่าจะร้อนกว่านี้ในทุก ๆ ปี ในขณะที่ทางรอดของปะการังในธรรมชาติเหลือน้อยเต็มที

 

"การเยียวยาระบบนิเวศทางทะเล คือ ต้องพยายามรักษาแนวปะการังที่เหลืออยู่ให้แข็งแกร่งที่สุด มีสัตว์น้ำครบเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ยิ่งสมบูรณ์มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยเยียวยาส่วนที่อ่อนแอให้แข็งแรงขึ้นได้ ที่สำคัญทั้งโลกต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุการเกิดโลกร้อน อย่างจริงจัง และให้หนักมากกว่านี้" 


 

จิตฤดี บรรเทาพิษ เรียบเรียง

เครดิตภาพ  TNN

ข้อมูล TNN , FB : Thon Thamrongnawasawat , กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง