รีเซต

นานครั้งได้เห็นสักที "ลูกเต่าเผือก" ฟักออกจากไข่บนเกาะในออสเตรเลีย

นานครั้งได้เห็นสักที "ลูกเต่าเผือก" ฟักออกจากไข่บนเกาะในออสเตรเลีย
ข่าวสด
11 มีนาคม 2564 ( 23:15 )
88

นานครั้งได้เห็นสักที - วันที่ 11 มี.ค. เดอะการ์เดียน รายงานการพบ ลูกเต่าเผือก สัตว์หายากยิ่ง ที่ฟักออกมาจากไข่ ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้ที่ผ่านมา จะเห็นได้ยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร แต่ยังไม่เคยเห็นเต่าเผือกโตเต็มวัยจริงๆ

 

Jessica Buckman

 

เมื่อไม่นานนี้ น.ส.เจสซิกา บักแมน ได้รับมอบหมายไปตรวจสอบรังไข่เต่าตนุบนเกาะเลดี้เอลเลียต และค้นหาลูกเต่าที่อาจพลัดหลงจากรังด้วย และพบลูกเต่าเผือกหายากสีชมพูอ่อนตัวหนึ่งตรงปากรังไข่เต่า แต่เป็นการพบไม่ธรรมดา เพราะว่าลูกเต่าเผือกตัวนั้นมีปัญหาเล็กน้อยตอนดันตัวเองออกมาจากไข่

 

"ฉันดึงมันออกจากทราย และมันอยู่ตรงกลางทราย ฉันทึ่งมากเลย มันมีความเป็นพิเศษต่อสายตาผู้พบเห็นทีเดียว" น.ส.บักแมนให้สัมภาษณ์เดอะการ์เดียนจากแนวปะการังทางใต้สุดของ เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ

 

ขณะที่ นายจิม บัก เพื่อนร่วมงาน ผู้ทำงานติดตามเต่าบนแนวปะการังมากกว่า 30 ปี ประเมินว่า ไข่เต่า 1 ใบ ในทุกๆ 100,000 ใบ ที่วางไว้ จะฟักออกมาเป็นเต่าเผือก ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้น้อยมากๆ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่เห็นลูกเต่าเผือกฟักไข่จากรังดังกล่าว

 

"ยากที่จะบอกว่ามีเต่าเผือกตัวอื่นๆ อีกไหมเพราะไม่ได้อยู่ตอนที่ลูกเต่าฟักออกมาจากไข่" นายบักกล่าวด้วยว่า หลายปีทั้งหมดของการวิจัยเต่า ไม่เคยเห็นเต่าเผือกโตเต็มวัยหรือเคยได้ยินรายงานการพบเต่าเผือกโตเต็มวัยสักตัวเดียว

 

ด้านน.ส.บักแมนกล่าวว่า ลูกเต่าเผือกที่ฟักออกมาจากไข่ไม่ใช่เต่าแข็งแรงที่สุด แต่หลังช่วยนิดๆ หน่อยๆ ให้ลูกเต่าเผือกออกจากรังมาได้ มันสามารถเดินไปที่ริมน้ำได้ห่างออกไปประมาณ 10-15 เมตร

 

"เต่าต้องเดินลงน้ำด้วยตัวเองเพื่อปรับตัวเข้ากับสนามแม่เหล็กของโลก และนั่นเป็นวิธีการที่ทำให้เต่ารู้ว่าพวกตัวอยู่ที่ไหนบนแผนที่โลกกันแน่"

 

แต่นักวิจัยหญิงผู้นี้ไม่ได้คาดหวังว่าจะเห็นลูกเต่าเผือกตัวนี้อีกครั้งเพราะว่า

 

"ปกติแล้ว จำนวนเต่าตนุที่ฟักออกมาจากไข่เป็นตัวเต็มวัยอยู่ที่ 1 ตัว ใน 1,000 ตัว เห็นได้ชัดว่าพวกมันเหล่านี้มีโอกาสรอดถึงขั้นนั้นลดลงอย่างมาก"

 

นายบักและน.ส.บักแมน ทำงานจัดการระบบนิเวศที่รีสอร์ตนิเวศบนเกาะเลดี้เอลเลียต ทั้งคู่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทำรังของเต่าตนุ และเต่าหัวค้อน ทั้งบนเกาะเลดี้เอลเลียต และบนเกาะเลดี้มัสเกรฟที่อยู่ใกล้เคียงด้วย

 

ทั้งนี้ ผิวเผือกเป็นความผิดปกติถ่ายทอดทางพันธุกรรมเนื่องจากไม่มีเม็ดสีหรือมีบางส่วน ส่งให้สิ่งมีชีวิตเกิดมามีสีขาวหรือชมพู แต่ในโลกของสัตว์แล้ว อายุของพวกมันจะสั้นมาก เนื่องจากไม่มีความสามารถในการพรางตัวได้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง