NGO ระงับความช่วยเหลืออัฟกานิสถาน ตอบโต้หลังตาลีบันห้ามผู้หญิงทำงานด้วย
กลุ่มตาลีบันที่ปกครองอัฟกานิสถานยังคงละเมิดสิทธิสตรีอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีคำสั่งห้ามนักเรียนหญิงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่วัน ก็ออกคำสั่งห้ามผู้หญิงทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGO
รัฐบาลตาลีบันให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเจ้าหน้าที่หญิงที่ทำงานกับองค์กร NGO เหล่านี้ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกาย และไม่สวมฮิญาบ ขณะที่หน่วยงานต่าง ๆ ตอบโต้ด้วยการระงับโครงการช่วยเหลือที่จะส่งผลกระทบต่อชาวอัฟกันหลายล้านคน
---NGO ชั้นนำระงับความช่วยเหลืออัฟกานิสถาน---
องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ชั้นนำ 5 องค์กร ประกาศระงับความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน เพื่อตอบโต้หลังรัฐบาลตาลีบัน ที่สั่งห้ามผู้หญิงทำงานกับองค์กรเหล่านี้ โดยให้เหตุผลว่าพวกเธอแต่งกายไม่เหมาะสม
Care International, Norwegian Refugee Council (NRC) และ Save the Children กล่าวว่า ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ หากไม่มีเจ้าหน้าที่หญิงของเรา
คำสั่งล่าสุดเกี่ยวกับองค์กร NGO มีขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่กลุ่มตาลีบันไม่ให้ผู้หญิงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
อับเดล ราห์มาน ฮาบิบ โฆษกกระทรวงเศรษฐกิจของกลุ่มตาลีบัน ระบุว่า เจ้าหน้าผู้หญิงที่ทำงานกับองค์กร NGO ต่างชาติละเมิดระเบียบการแต่งกาย ด้วยการไม่สวมฮิญาบ และกลุ่มตาลีบันขู่ว่าจะยกเลิกใบอนุญาตขององค์กรใด ๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยเร็ว
---เรียกร้องตาลีบันยกเลิกคำสั่งห้ามทันที---
ขณะที่องค์กร NGO บางส่วน ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้หญิงอัฟกันได้รับอนุญาตให้ทำงานกับพวกเขาต่อไป
ผู้นำของ Care, NRC และ Save the Children กล่าวในแถลงการณ์ร่วมว่า องค์กรต่าง ๆ จะไม่มีทางเข้าถึงชาวอัฟกันหลายล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2021 ได้ หากไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่หญิงของพวกเขา
หลังจากได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับประกาศดังกล่าวจากรัฐบาลตาลีบัน องค์กรได้ระงับโครงการต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ชายและผู้หญิงสามารถช่วยเหลืองานในองค์กร NGO ในอัฟกานิสถานได้อย่างเท่าเทียม
ส่วนองค์กร IRC ซึ่งมีพนักงานผู้หญิง 3,000 คนทั่วอัฟกานิสถาน กล่าวว่า เราต้องอาศัยพนักงานหญิงในทุกระดับขององค์กร และหากเจ้าหน้าที่ผู้หญิงไม่สามารถทำงานได้ก็ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการได้
ด้านองค์กร Islamic Relief ระบุว่า เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากในการระงับกิจกรรมบางอย่างในอัฟกานิสถานเป็นการชั่วคราว รวมถึงโครงการที่สนับสนุนครอบครัวที่ยากจนในการหาเลี้ยงชีพ การศึกษาและโครงการด้านสุขภาพบางโครงการ แต่กิจกรรมในการการดูแลสุขภาพเพื่อช่วยชีวิตจะยังคงดำเนินต่อไป
พร้อมเรียกร้องให้ รัฐบาลตาลีบันยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าวทันที เพราะจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กที่เปราะบางหลายล้านคนทั่วประเทศ
---ยูเอ็นจ่อยุติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม---
รามิซ อลัคบารอฟ ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมระดับสูงของสหประชาชาติ กล่าวว่า สหประชาชาติกำลังพยายามที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าว และนี่เป็นเส้นตายสำหรับองค์กรด้านมนุษยธรรมทั้งหมด
เจ้าหน้าที่บอกกับ BBC ว่า สหประชาชาติสามารถยุติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถานได้ หากรัฐบาลตาลีบันไม่ยกเลิกคำสั่งที่ห้ามพนักงานหญิงทำงานในองค์กรการกุศล
อย่างไรก็ตาม อลัคบารอฟกล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนว่าคำสั่งดังกล่าวของกลุ่มตาลีบันหมายถึงอะไร เพราะรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มตาลีบันได้บอกกับสหประชาชาติว่า UN ควรทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่อไป และผู้หญิงสามารถรายงานตัวเพื่อทำงานและปฏิบัติหน้าที่ได้
นอกจากนี้ กระทรวงอื่น ๆ ยังได้ติดต่อสหประชาชาติโดยตรง โดยแจ้งว่า หน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินควรดำเนินต่อไป
เจน อีเกอร์แลนด์ จาก NRC ระบุว่า เจ้าหน้าที่เกือบ 500 คนจาก 1,400 คนขององค์กรเป็นผู้หญิง และพวกเธอปฏิบัติงานภายใต้ค่านิยมดั้งเดิม ทั้งการการแต่งกาย การเคลื่อนไหว และการแยกพื้นที่สำนักงาน โดยหวังว่าคำสั่งนี้จะถูกยกเลิกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า พร้อมเตือนว่าประชาชนหลายล้านคนจะต้องทนทุกข์ หากการทำงานของ NGO ถูกขัดขวาง
องค์กร NGO ต่าง ๆ ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากผู้หญิงชาวอัฟกานิสถานซึ่งทำงานกับองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นผู้หารายได้หลักจุนเจือครอบครัว
---การริดลอนสิทธิสตรีที่ยังไม่ยุติ---
ผู้หญิงหนึ่งบอกกับ BBC ว่ารู้สึกสิ้นหวังหวาดกลัว หากไม่ได้ทำงาน แล้วเธอจะเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างไร ขณะที่อีกคน เรียกข่าวนี้ว่า “น่าตกใจ” และยืนยันว่าเธอได้ปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายที่เข้มงวดของกลุ่มตาลีบัน
คำสั่งห้ามผู้หญิงทำงานกับองค์กร NGO ยังเรียกเสียงประท้วงจากนานาชาติ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เตือนว่า คำสั่งนี้ “จะทำลายความช่วยเหลือที่สำคัญและการช่วยชีวิตผู้คนนับล้าน”
นับตั้งแต่ยึดอำนาจการปกครองกลับคืนมาเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มตาลีบันก็จำกัดสิทธิสตรีอย่างต่อเนื่อง แม้จะให้คำมั่นว่าจะปกครองด้วยวิธีที่นุ่มนวลกว่าระบอบการปกครองที่เห็นในทศวรรษ 1990 ก็ตาม
นอกจากคำสั่งห้ามผู้หญิงทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ห้ามนักศึกษาหญิงเรียนต่อในมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ติดอาวุธคอยสอดส่อง มีรายงานว่า โรงเรียนมัธยมสำหรับเด็กผู้หญิงก็ยังคงถูกปิดในเกือบทุกจังหวัด และผู้หญิงยังถูกห้ามเข้าสวนสาธารณะและโรงยิม รวมถึงสถานที่สาธารณะอื่น ๆ ด้วย
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ระบุว่า รัฐบาลตาลีบันมีราคาที่ต้องจ่าย จากคำสั่งห้ามนักเรียนหญิงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย และรัฐบาลตาลีบันจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากประชาคมโลก หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการริดลอนสิทธิสตรีในอัฟกานิสถานได้
---จับตาการประท้วงในอิหร่าน---
ส่วนที่อิหร่านมีการประท้วงรัฐบาล 100 วันแล้ว จากกรณีการเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี ที่ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมด้วยข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสมและไม่ได้สวมฮิญาบ และมีรายงานว่าเธอถูกทำร้ายจนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
การเสียชีวิตของเธอสร้างความโกรธแค้นต่อสังคม จนลามไปสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยาวนานที่สุด นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 1979 สร้างความสั่นสะเทือนต่อระบอบการปกครองของอิหร่าน ขณะเดียวกันสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับประชาชนเช่นกัน
รายงานของสำนักข่าวนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ HRANA ระบุว่า ผู้ประท้วงมากกว่า 500 คน คนเสียชีวิต ในจำนวนนี้มี เด็ก 69 คน ขณะผู้ประท้วง 2 คนถูกประหารชีวิต และอีกอย่างน้อย 26 คนต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน
การประท้วงในปัจจุบัน มีลักษณะเฉพาะเนื่องจากเป็นการประท้วงที่มีผู้คนจากทั่วสังคมและผู้หญิงมีบทบาทนำภายใต้สโลแกน “ผู้หญิง ชีวิต เสรีภาพ”
ผู้ประท้วงบางคน ระบุว่า อิหร่านไม่สามารถย้อนกลับไปก่อนยุคของมาห์ซา อามินีได้อีกแล้ว
—————
แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Getty Images
ข้อมูลอ้างอิง: