รีเซต

เดือนกรกฎาคม 2564 ภัยธรรมชาติถล่ม ประเทศไหนบ้าง? กลางวิกฤตโควิด

เดือนกรกฎาคม 2564 ภัยธรรมชาติถล่ม ประเทศไหนบ้าง? กลางวิกฤตโควิด
TeaC
28 กรกฎาคม 2564 ( 14:44 )
935

เดือนกรกฏาคม 2564 เดือนแห่งการเริ่มต้นเข้าสู่ครึ่งปีหลัง นอกจากทั่วโลกยังคงต้องเผชิญโรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก หลายประเทศยังต้องเจอภัยธรรมชาติต่าง ๆ ตั้งแต่ภัยพิบัติอย่างคลื่นความร้อน ไฟป่า ฝนตกหนัก พายุไต้ฝุ่น และน้ำท่วม ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศถูกภัยพิบัติถล่มซ้ำเติมผ่ากลางโควิด TrueID พาย้อนเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ปรากฎเป็นข่าวให้ได้เห็น ดังนี้

 

เริ่มที่ 10 กรกฎาคม 2564 ญี่ปุ่นประกาศเตือนภัยฝนตกหนักระดับสูงสุดหลายจังหวัดในภาคใต้ หลังเกิดฝนตกกระหน่ำในวันนี้ สั่งอพยพประชาชนกว่า 120,000 คน ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน เพิ่งเกิดดินถล่มในเมืองอาตามิ เสียชีวิต 9 คน สูญหาย 21 คน

 

วันเดียวกัน พายุโซนร้อนเอลซา ก่อให้เกิดฝนตกและลมกระโชกแรง ได้เคลื่อนตัวสู่พื้นที่ด้านตะวันออกของเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ด้ทำให้เกิดคลื่นสูงซัดชายฝั่งเป็นวงกว้าง ตั้งแต่รัฐนิวเจอร์ซีย์ จนถึงรัฐแมสซาชูเซตต์ ระหว่างที่พายุเคลื่อนตัวไปตามชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา โดยกระแสลมที่แรงจัด ได้หักโค่นต้นไม้ ในขณะที่ พายุฝนพัดกระหน่ำทางหลวงหลายสาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 3 คน ส่วนความเสียหายอื่น ๆ มีหลังคาบ้านเรือนปลิวว่อน ต้นไม้หักโค่น และน้ำท่วมทางตะวันออกของคิวบา

 

ถัดมา 11 กรกฎาคม 2564 สหรัฐเจอพายุโซนร้อนเอลซา ถล่มยังไม่พอ เจอคลื่นความร้อนรุนแรงปกคลุมหลายรัฐทางตะวันตกของสหรัฐฯ ประชาชนกว่า 30 ล้านคนได้รับผลกระทบ ทางการเตือนดื่มน้ำมาก ๆ และอยู่ในอาคารที่เปิดเครื่องปรับอากาศเท่านั้น คาดอุณหภูมิจะพุ่งสูงสุดทำสถิติใหม่ โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเนวาดาช่วงสุดสัปดาห์นี้

 

ปัญหาคลื่นความร้อนขยายเป็นวงกว้างไปถึง แคนาดา เป็นเหตุให้เกิดไฟป่าหลายสิบแห่ง บริเวณแถบชายฝั่งตะวันตกของประเทศ จนต้องเร่งหามาตรการใหม่มุ่งเน้นป้องกันไฟป่า หลังคลื่นความร้อนที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ในเดือนที่ผ่านมา 

 

ช่วงเย็นวันเดียวกัน โซเอเชียเกิดภัยธรรมชาติ เมื่อฝนตกหนักในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ส่งผลให้ต้องยกเลิกเที่ยวบิน และเป็นอุปสรรคต่อการวิ่งของรถไฟความเร็วสูง โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาจีน รายงานว่า ตั้งแต่ 18.00 น. วานนี้ จนถึง 06.00 น. ช่วงเช้าที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งสามารถวัดปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ได้ถึง 45.7 มิลลิเมตร

 

และเกิดเหตุฟ้าผ่าขึ้นในรัฐอุตตรประเทศ, มัธยประเทศ และราชาสถาน ทำให้มีชาวอินเดียเสียชีวิตรวมกันอย่างน้อย 70 คน ในจำนวนนี้พบว่า 16 คนเสียชีวิตหลังถูกฟ้าผ่า ขณะที่ถ่ายรูป ‘เซลฟี’ บนยอดหอสังเกตการณ์ ท่ามกลางสายฝน ที่ป้อมอาเมร์ในเมืองชัยปุระ รัฐราชาสถาน

 

ถัดมา 15 กรกฎาคม 2564 เกิดไฟป่า 60 จุด ใน 10 รัฐทางตะวันตกของสหรัฐฯ ทางการต้องอพยพประชาชนหลายพันคน หลังไฟป่าแผลงฤทธิ์มานาน 10 วันแล้ว พื้นที่ป่าถูกเผาวอดกว่า 2.5 ล้านไร่ ขณะที่บ้านเรือนเสี่ยงถูกไฟไหม้ 2,000 หลัง ผู้เชี่ยวชาญระบุ สะท้อนวิกฤติปัญหาโลกร้อน

 

และ 16 กรกฎาคม 2564 ดูจะเป็นข่าวใหญ่ที่หลายคนให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากคาดไม่ถึงว่า จะเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่เยอรมนีและเบลเยี่ยม ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 67 ราย ในเยอรมนีและเบลเยียม หลังฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ ทำแม่น้ำหลายสายเอ่อล้น โดยเหยื่อผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเยอรมนี แต่มี 9 รายอยู่ในเบลเยียม ซึ่งรวมทั้งเด็กหญิงวัย 15 ปี 

 

โดยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคตะวันตกของเยอรมนีและเบลเยียม ล่าสุด ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งพรวดเป็นอย่างน้อย 200 รายแล้ว และยังสูญหายอยู่อีกมากกว่า 1,000 คน ยังไม่ทราบชะตากรรมหลังน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี ขณะที่การสื่อสารในหลายพื้นที่ถูกตัดขาด

 

18 กรกฎาคม 2564 เกิดเหตุดินถล่มฝังกลบบ้านหลายหลังในนครมุมไบ หลังฝนตกลงมาอย่างหนักในอินเดีย โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในนครมุมไบ เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 25 รายในพื้นที่ 3 แห่งแถบชานนครมุมไบ หลังบ้านหลายหลังพังทลาย เพราะดินถล่มฝังกลบ อันมีสาเหตุมาจากฝนตกหนัก ขณะที่ เจ้าหน้าที่กู้ภัยทำงานแข่งกับเวลา โดยใช้มือเปล่าขุดดิน เพื่อหาผู้รอดชีวิต แต่กลับพบศพจำนวนมาก ทางการระบุว่า เหยื่อติดอยู่ใต้ซากบ้านพังทลาย เพราะดินถล่มหลายคน

 

และพื้นที่แถบภูมิภาคไซบีเรี ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย เผชิญกับไฟป่าขนาดใหญ่หลายจุด พร้อมกับลมที่กระโชกแรง ยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้โหมรุนแรงยิ่งขึ้น และพบว่าควันไฟได้ปกคลุมในหลายเมืองของภูมิภาค ซึ่งทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายอย่างยิ่ง

 

21 กรกฎาคม 2564 ไต้ฝุ่น เจิมปากา ถล่มมณฑลหลายมณฑลในจีน กวางตุ้งเตือนภัยฝนตกหนักสูงสุดสีแดง เพื่ออพยพประชาชนและแรงงานฟาร์มเลี้ยงปลาเกือบ 8,000 คนและยกเลิกเที่ยวบินเกือบ 1,000 เที่ยวก่อนพายุเข้า ขณะที่ไต้ฝุ่นลูกที่ 2 ยีนฟ้า จ่อถล่มจีนซ้ำสอง และไต้หวัน ส่งอิทธิพลถึงญี่ปุ่นก่อน คาดทำให้ฝนตกหนักก่อนพิธีเปิด โตเกียวโอลิมปิก

 

นอกจากนี้ ยังมีข่าวน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่บางส่วนของสหรัฐอเมริกา ตุรกี เยเมน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ทางรถไฟ Trans-Siberia ของรัสเซีย และอีกหลาย ๆ พื้นที่ รวมถึงประเทศไทยด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภัยธรรมชาติผ่ากลางโควิดระบาดหนัก หลายประเทศต้องเผชิญทั้งโรคระบาด ภัยพิบัติต่าง ๆ และคงสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ต้องจริงจังในการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อโลกที่ดีขึ้นกันได้แล้ว

 

ข้อมูล :  TNN World

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง