รีเซต

ชายผู้บุกเบิกธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ‘ชาร์ล พอนซี’ กับกลลวงที่ยังอยู่บนโลกมานานกว่าศตวรรษ

ชายผู้บุกเบิกธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ‘ชาร์ล พอนซี’ กับกลลวงที่ยังอยู่บนโลกมานานกว่าศตวรรษ
TNN ช่อง16
28 สิงหาคม 2565 ( 18:47 )
205

ธุรกิจประเภทดังกล่าว มักจะให้ผลตอบแทนตามสัญญาจริงในช่วงระยะแรก และเมื่อถึงจุดหนึ่ง หากบริษัทไม่สามารถหาสามารถเพิ่มเติมได้ หรือ นักลงทุนดึงเงินคืนพร้อมกัน ก็จะทำให้ธุรกิจนี้ล้มลงได้อย่างรวดเร็ว และหลายคนไม่สามารถได้เงินที่ลงทุนไปแล้วกลับคืนมาได้เลย 


แต่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ เป็นธุรกิจที่ไม่เคยตายหายไปจากสังคมโลกแบบถาวร มักจะเกิดขึ้นมาในรูปแบบใหม่ได้เรื่อย ๆ เพียงเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั้น ๆ และแชร์ลูกโซ่ก็อยู่บนโลกนี้มานานนับร้อยปี จากชายผู้ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจแชร์ลูกโซ่ให้โด่งดังอย่าง ‘ชาร์ล พอนซี’ จนต้องเอานามสกุลของเขามาตั้งชื่อ เพื่อเรียกการหลอกลงทุนในลักษณะนี้ว่าเป็น ‘Ponzi Scheme’


---ชายหนุ่มจากอิตาลี--- 


ชาร์ล พอนซี เป็นชาวอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1882 ที่แคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา ของอิตาลี พอนซี เคยกล่าวกับสำนักข่าว New York Times ว่า บรรพบุรุษของเขามีฐานะที่ดีมาก แต่ก็ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ช่วงชีวิตวัยเด็ก เขาจึงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และต้องทำงานเป็นบุรุษไปรษณีย์ตั้งแต่เด็ก ๆ ต่อมาได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยซาเปียนซาแห่งโรม แต่ช่วงที่เรียนพอนซีมักจะเอาแต่เที่ยวเตร่ ตามเพื่อน ๆ ของเขา จนในที่สุดเขาก็ไม่มีเงิน และเรียนไม่จบ 


ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานั้น เด็กหนุ่มชาวอิตาลีหลายคนที่อพยพไปสหรัฐฯ และกลับมายังบ้านเกิดพบว่ามีฐานะร่ำรวยมากขึ้น ครอบครัวของพอนซีก็สนับสนุนให้เขาทำแบบเดียวกัน 


---มุ่งสู่อเมริกาเพื่อความร่ำรวย--- 


พอนซีเดินทางถึงเมืองบอสตัน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 1903 ด้วยเรือ ‘เอส เอส แวนคูเวอร์’ เมื่อมาถึงสหรัฐฯ เขามีเงินสดติดตัว 2.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้มาจากการเอาเงินออมที่เหลือของเขาไปวางเดิมพันระหว่างเดินทางมาที่นี่ 


“ผมมาถึงประเทศนี้โดยมีเงิน 2.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ กับความหวังอีก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และความหวังพวกนั้นไม่เคยทิ้งผม” พอนซี กล่าวกับ  New York Times


ขณะอยู่ในสหรัฐฯ พอนซีเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างรวดเร็ว และใช้เวลาหลายปีไปกับการทำงานต่าง ๆ เป็นพนักงานล้างจานในร้านอาหาร จนได้ไต่เต้าเป็นพนักงานเสิร์ฟของร้าน แต่สุดท้ายเขาต้องถูกไล่ออกเนื่องจากโกงเงินทอนของลูกค้า 


---พบกลลวงครั้งแรก---


หลังจากตกงาน พอนซีไม่สามารถหาเงินได้ดีเมื่อแต่ก่อนอีกต่อไป ในปี 1907 เขาจึงตัดสินใจย้ายไปที่มอนทรีออล และได้ทำงานเป็นผู้ช่วยธนาคารของ ‘บานโก ซารอสซี’ ธนาคารเปิดใหม่ที่ตั้งอยู่บนถนนเซนต์ จากส์ ก่อตั้งโดย หลุยส์ ซารอสซี เพื่อให้บริการแก่ผู้อพยพชาวอิตาลีที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ


ช่วงเวลาดังกล่าว พอนซีได้รู้จักกลโกงครั้งแรกจากธนาคารแห่งนี้ เขาพบว่า ธนาคารจะเอาเงินจากลูกค้าใหม่ ไปจ่ายปันผลให้ลูกค้าเก่า โดยขณะนั้น ธนาคารของเขาได้ให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ที่มาฝากเงินสูง 6% ซึ่งมากกว่าดอกเบี้ยที่อื่นถึง 2 เท่า ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีคนมาฝากเงินกับธนาคารเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว 


เขาทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งนั้นจนได้เป็นผู้จัดการ แต่ต่อมาธนาคารก็เริ่มประสบปัญหาทางการเงินอย่างร้ายแรง เนื่องจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เริ่มไม่ดี กอปรกับซารอสซีไม่ได้จ่ายเงินปันผลที่มาจากกำไร แต่มาจากการที่ลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีใหม่ สุดท้ายธนาคารล้มละลาย และซารอสซีก็หลบหนีหายไปเม็กซิโกพร้อมกับเงินก้อนโต และต่อมาเขาก็ถูกตัดสินจำคุก 3 ปี ในข้อหาปลอมแปลงเช็ค 


หลังถูกปล่อยตัวเมื่อปี 1911 พอนซีก็ยังคงเข้าไปพัวพันในคดีลักลอบขนคนอิตาลีแบบผิดกฎหมาย ทำให้ต้องถูกจับเข้าคุกแอตแลนตาอีก 2 ปี 


---พบช่องโหว่ทางธุรกิจ---


หลังจากถูกปล่อยตัวออกมา พอนซีได้กลับไปที่บอสตันอีกครั้ง และได้แต่งงานกับ โรส จีเนกโก ในปี 1918 เขาทำงานหลายอย่างมากมาย รวมถึงช่วยงานร้านขายของชำของพ่อตา แต่ก็ทำอยู่ได้ไม่นาน


ระหว่างนั้น เมื่อปี 1919 พอนซีได้เกิดความคิดอันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้ชื่อของเขาถูกจารึกทางประวัติศาสตร์ว่าเป็น ‘นักต้มตุ๋น’ ระดับโลก เมื่อเขาได้รับจดหมายจากบริษัทแห่งหนึ่งในสเปนที่สอบถามเกี่ยวกับแคตตาล็อกโฆษณา ซึ่งในจดหมายฉบับดังกล่าวได้แนบ International Reply Coupon หรือ IRC ซึ่งเป็นเป็นบัตรที่สามารถใช้จ่ายแทนแสตมป์ ในการส่งจดหมายตอบกลับมาด้วย


การค้นพบดังกล่าว ทำให้พอนซีพบช่องโหว่ของระบบ เพราะ IRC ในประเทศแถบยุโรปนั้นมีมูลค่าถูกกว่าในสหรัฐฯ เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 


เขารู้ดีว่า เขาจะสามารถสร้างกำไรด้วยการซื้อ IRC จากประเทศหนึ่ง และนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสแตมป์ที่มีมูลค่าแพงมากกว่าในประเทศอื่น ด้วยเหตุนี้ เขาจึงให้ตัวแทนของเขาในประเทศอื่น ๆ ซื้อ IRC และส่งกลับมาให้เขาที่สหรัฐฯ แล้วนำไปเปลี่ยนเป็นสแตมป์ที่มีมูลค่าสูงกว่า และขายสแตมป์เหล่านั้นออกไป พอนซี รายงานว่า เขาสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 400% 


แต่การทำธุรกิจลักษณะแบบนี้ เป็นรูปแบบหนึ่งของอาบริทาจ (Abritrage) ซึ่งเป็นการทำกำไรจากการซื้อสินค้าที่ราคาถูกจากตลาดหนึ่ง และนำมาขายในราคาที่แพงกว่าในอีกตลาดหนึ่ง ซึ่งไม่ใชเรื่องที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด 


---เริ่มต้นการหลอกลวง--- 


เมื่อดำเนินการขาย IRC ไปได้สักพัก พอนซีต้องการสร้างผลกำไรมากขึ้นอีก โดยความพยายามแรกเขาไปขอยื่นกู้เงินจากธนาคาร เพื่อมาทำธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะ แต่เขาก็ถูกทางธนาคารปฏิเสธ จากนั้นมาเขาก็ได้ก่อตั้งบริษัทหุ้นขึ้น เพื่อหาเงินทุนจากสาธารณชน และเดินทางไปหาเพื่อนของในบอสตัน และสัญญาว่าเขาจะปันผลคืนเป็น 2 เท่าภายใน 90 วัน ต่อมาพอนซีได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนอีก ด้วยการสัญญาว่า เขาจะปันผลตอบแทน 50% ใน 45 วัน และ 100% ภายใน 3 เดือน ซึ่ง ณ ตอนนั้น ธนาคารทั่วไป จ่ายดอกเบี้ยแค่ 5% ต่อปี 


พอนซี อธิบายแก่นักลงทุนว่า ผลตอบแทนมาจากกำไรของคูปองตอบกลับทางไปรษณีย์ ที่ทำให้การสร้างผลกำไรมหาศาลกลายเป็นเรื่องง่าย นักลงทุนบางคนได้รับเงินปันผล 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเงินลงทุนตอนต้น 1,250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามสัญญา 


---การหลอกลวงครั้งประวัติศาสตร์--- 


เดือนมกราคม 1920 พอนซีก่อตั้งบริษัท ‘Securities Exchange Company’ เพื่อระดมเงินจากนักลงทุนเข้ามามากขึ้นอีก เพียงแค่เดือนแรก บริษัทเขาสามารถระดมทุนได้มากถึง 1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเขาจ่ายเงินปันผลให้แก่นักลงทุน จากเงินของนักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามา 


การระดมทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วงนี้ พอนซีได้ให้ค่าคอมมิชชันให้แก่บุคคลที่สามารถแนะนำนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาร่วมลงทุนกับเขาด้วย โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ประชาชนนำเงินมาลงทุนกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่ของเขามากกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดค่าเงินปัจจุบันเทียบเท่า 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 


ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน มีรายงานว่า เขาสามารถหาเงินได้มากกถึงวันละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลายคนเอาบ้านเข้าจำนอง เอาเงินเก็บเกษียณมาลงทุนกับพอนซีมากมาย เพราะเชื่อว่าได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า 


---ถูกตีแผ่ธุรกิจหลองลวงระดับโลก--- 


ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ของพอนซีเริ่มถูกตีแผ่ในเดือนสิงหาคม 1920 เมื่อหนังสือพิมพ์Boston Post ทำการสืบสวนเรื่องดังกล่าว โดยเริ่มต้นสืบสวนจากบริษัทของเขา กับนักลงทุนหลายคนที่พยายามถอนเงินคืน และตีแผ่สู่สาธารณชน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาสืบสวนต่อเรื่องดังกล่าว


วันที่ 12 สิงหาคม 1920 ชารืล พอนซี ถูกจับกุมจากข้อหาฉ้อโกง 86 กระทง เขาสารภาพว่าได้ทำการฉ้อโกงนักลงทุน และศาลตัดสินให้เขาจำคุกทั้งหมด 14 ปี ต่อมาภรรยาของเขาได้ขอหย่าเมื่อปี 1937 และพอนซีได้เสียชีวิตในเมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล วันที่ 18 มกราคม 1949 ปิดตำนานนักต้มตุ๋นที่ยิ่งใหญ่ของโลก 


ทั้งนี้ มีการประเมินว่า มูลค่าความเสียหายครั้งนั้นสูงถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินปัจจุบันสูงเกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 


---ตำนานจากไป แต่แชร์ลูกโซ่ยังอยู่--- 


แม้ ‘ชาร์ล พอลซี’ จะจากถูกจับกุม และจากโลกนี้ไปนานเกือบร้อยปี แต่ลักษณะธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ที่เขาได้เป็นผู้บุกเบิกขึ้นยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน เปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่านไป พร้อมกับมูลค่าความเสียหายที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ  


เมื่อปี 2019 สหรัฐฯ เผยว่า ทางการพบโครงการหรือธุรกิจที่เข้าข่ายลักษณะแชร์ลูกโซ่ 60 ธุรกิจ และมีเหยื่อร่วมลงทุนมากกว่า 3.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.17 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มสูงว่าตัวเลขที่แท้จริงจากการตกเป็นเหยื่อธุรกิจแชร์ลูกโซ่อาจมีมากกว่านั้น และพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อโอกาสที่จะได้คืนเงินมีน้อยมาก แม้จะสามารถจับผู้กระทำความผิดได้ 

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ภาพ: Getty Images 


ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.biography.com/crime-figure/charles-ponzi

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Charles_Ponzi

https://time.com/5877434/first-ponzi-scheme/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง