รีเซต

ไม่ขวางธรรมชาติ! ชาวบ้านจีนย้ายสู่บ้านหลังใหม่ เพื่ออาณาจักรป่าฝนเขตร้อนไหหลำ

ไม่ขวางธรรมชาติ! ชาวบ้านจีนย้ายสู่บ้านหลังใหม่ เพื่ออาณาจักรป่าฝนเขตร้อนไหหลำ
Xinhua
17 ธันวาคม 2563 ( 23:48 )
132

ไห่โข่ว, 17 ธ.ค. (ซินหัว) -- ฝูหย่งชิง ชายวัย 35 ปี พร้อมภรรยาหอบหม้อ กระทะ และของใช้จำเป็นอื่นๆ เดินทางถึงบ้านหลังใหม่ หลังจากขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านเส้นทางแสนคดเคี้ยวบนภูเขานานกว่า 3 ชั่วโมง

ทั้งสองจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในย่านชุมชนเพื่อตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่โยกย้ายจากพื้นที่ที่กำลังจะกลายเป็นอุทยานแห่งชาติป่าฝนเขตร้อนไห่หนาน (Hainan Tropical Rainforest Park) ในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน

 

ฝู สมาชิกคนหนึ่งของหมู่บ้านเกาเฟิง ตำบลหนานไค อำเภอปกครองตนเองไป๋ซา กลุ่มชาติพันธุ์หลี กล่าวว่า "ผมอาศัยอยู่ที่นั่นมาตลอด การย้ายออกมาจึงเป็นเรื่องยาก แต่ผมตื่นเต้นกับเรื่องนี้มากกว่าจะคิดคัดค้าน"

ฝูเป็น 1 ในชาวบ้าน 498 คนจาก 118 ครัวเรือนที่กลายเป็นผู้อพยพกลุ่มแรก เพื่อพัฒนาระบบนิเวศของพื้นที่ที่กำลังจะกลายเป็นอุทยานแห่งชาติป่าฝนแห่งแรกของจีน

 

อุทยานดังกล่าวเป็นที่ตั้งของป่าฝนดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ครอบคลุม 9 อำเภอและเมือง มีพื้นที่รวม 4,400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1 ใน 7 ของพื้นที่เกาะไห่หนาน โดยหมู่บ้านเกาเฟิงนั้นตั้งอยู่ใจกลางของว่าที่อุทยานฯ แห่งใหม่

ฝูจื้อหมิง ผู้ใหญ่บ้านเกาเฟิงกล่าวว่า "หากชาวบ้านยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น การใช้ชีวิตของพวกเขาจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของการสร้างอุทยาน ด้วยเหตุนี้ การย้ายที่อยู่ให้พวกเขาจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด"

 

ข้อมูลของทางการจีนระบุว่าป่าฝนเขตร้อนไห่หนาน ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์จำนวนมาก รวมถึงชะนีไห่หนาน ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 เฮกตาร์ (ราว 1,250,000 ไร่) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการยกระดับงานอนุรักษ์และการรณรงค์ต่อต้านความยากจน ทำให้ชาวบ้าน "ลด-ละ-เลิก" การตัดไม้และการเผาป่าเพื่อล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย

การย้ายถิ่นฐานเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบรรเทาความยากจน ซึ่งตอบโจทย์ชาวบ้านจำนวนมากที่โหยหาชีวิตสะดวกสบายพ้นภูเขา โดยก่อนจะหลุดพ้นจากความยากจนในปี 2017 เกาเฟิงเคยเป็นหมู่บ้านที่ยากจนข้นแค้นที่สุดของไห่หนานมาก่อน ชาวบ้าน 118 ครัวเรือนของที่นี่มีผู้ยากไร้ถึง 101 คน ซึ่งมีแหล่งรายได้เพียงแห่งเดียวคือการปลูกต้นยางพารา

 

หมู่บ้านเล็ก "เกาเฟิง" ตั้งอยู่โดดเดี่ยว มีระยะทางห่างจากเมืองที่ใกล้ที่สุดประมาณ 62 กิโลเมตร และสภาพถนนสำหรับสัญจรย่ำแย่ จึงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ยากจนของภูมิภาค

ฝูย้อนรำลึกถึงความยากลำบากในการเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและการส่งลูกไปโรงเรียน เขาเล่าว่าคืนหนึ่งที่ลูกของเขามีไข้สูง เขาต้องบึ่งมอเตอร์ไซค์ลงจากภูเขาเพื่อไปพบแพทย์ "ผมต้องขับไปตามทางริมหน้าผา" ฝูเสริมว่าเขาหวาดหวั่นทุกครั้งที่หวนนึกถึงประสบการณ์ปวดใจครั้งนั้น

 

เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นและป้องกันไม่ให้ชาวบ้านหวนกลับไปยากจนเหมือนก่อน รัฐบาลไห่หนานจึงเปิดตัวโครงการย้ายถิ่นฐานในปี 2019 นับเป็นการย้ายถิ่นฐานครั้งแรกที่ครอบคลุมชาวบ้านเกาเฟิงทั้งหมด โดยมีกำหนดการแล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ยังมีแผนย้ายประชาชน 470 ครัวเรือนไปยังพื้นที่อื่นๆ ในปี 2021 ด้วย

ชาวบ้านเกาเฟิง 1 ครัวเรือน ได้เข้าไปอาศัยในบ้าน 2 ชั้น ขนาด 115 ตารางเมตร ของย่านชุมชนใหม่ที่ได้รับทุนก่อสร้างจากรัฐบาล

 

"นอกจากห้องนั่งเล่นแล้ว ภายในบ้านยังมีอีก 4 ห้อง ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกตกแต่งได้ดีเยี่ยมยิ่งกว่าบ้านมุงกระเบื้องบนภูเขา" ฝูกล่าว

ย่านชุมชนเพื่อการตั้งถิ่นฐานใหม่ยังมีศูนย์บริการ ห้องอ่านหนังสือ สนามบาสเกตบอล และเวทีการแสดง โดยการออกแบบทางสถาปัตยกรรมสะท้อนองค์ประกอบของกลุ่มชาติพันธุ์หลีด้วย

 

หลี่หงเฟิง ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างชุมชนใหม่นี้กล่าวว่า "ชาวบ้านที่นี่มีธรรมเนียมกลั่นเหล้าของตัวเอง รัฐบาลจึงสร้างห้องกลั่นสาธารณะไว้ 5 ห้องด้วย"

หลิวเหว่ย เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำอำเภอไป๋ซากล่าวว่า "การย้ายทุกคนออกไปเป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น เรายังต้องทำงานต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิม"

 

รัฐบาลอำเภอไป๋ซาได้ร่วมมือกับบริษัทการเกษตรใกล้ชุมชนในการสร้างฐานเพาะเห็ดกินได้ ซึ่งไม่เพียงสร้างงานแก่ชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังมอบเงินปันผล 180,000 หยวน (ประมาณ 823,000 บาท) แก่สหกรณ์หมู่บ้านทุกปี ทั้งยังมีการเชิญบริษัทชาเข้ามาตั้งฐานการผลิตใกล้ชุมชนและสร้างงานแก่ชาวบ้านด้วย

ขณะเดียวกันเว่ยเอินเหวิน ผู้รับผิดชอบงานบรรเทาความยากจนของตำบลหนานไค กล่าวว่าอาคารในพื้นที่หมู่บ้านเดิมจะถูกรื้อถอนออกทั้งหมด โดยพื้นที่ของหมู่บ้านเก่าจะถูกเปลี่ยนให้กลมกลืนกับธรรมชาติ มนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์จะถูกโยกย้ายออกจากที่นี่ เพื่อปูทางสู่ความรุ่งโรจน์แก่ผองสัตว์ป่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง