รีเซต

บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย? ทำได้จริงหรือไม่ในตอนนี้

บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย? ทำได้จริงหรือไม่ในตอนนี้
Ingonn
6 ตุลาคม 2564 ( 14:33 )
3.3K
บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย? ทำได้จริงหรือไม่ในตอนนี้

เป็นที่ฮือฮาสำหรับคนที่สูบบุหรี่ หลังจากที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จะพิจารณาให้ "บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย" เพราะถือว่าเป็นยาสูบที่มีความอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ มีสารพิษน้อยกว่า เพียงแต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับ นอกจากนั้น "บุหรี่ไฟฟ้า" ยังถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่มีใช้กันกว่า 67 ประเทศทั่วโลก อย่างสหรัฐอเมริกา จีน หรือแม้แต่มาเลเซีย 

 

 

การตัดสินใจให้ "บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย" ของ รมว.ชัยวุฒิ 

 

1.โรงงานยาสูบและผู้ปลูกยาสูบเองมีรายได้ลดลง เนื่องจากคนนิยมไปสูบบุหรี่นำเข้า หรือบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามา หากเราสามารถนำยาสูบที่ปลูกในประเทศมาผลิตบุหรี่ไฟฟ้าได้ จะสามารถแก้ปัญหาให้กับโรงงานยาสูบและเกษตรกรได้ และสามารถส่งออกได้ด้วย 

 

 

2.ประเทศไทยจะได้ปรับตัวตามเทคโนโลยี ถ้าเราไม่ปรับตัวตามเทคโนโลยีก็จะเกิดปัญหาภายในประเทศและเสียหายในอนาคตได้

 

 

3.บุหรี่ไฟฟ้า เป็นเครื่องยาสูบที่มีความอันตรายน้อยกว่าบุหรี่จริง บุหรี่ไฟฟ้าจะมีสารพิษน้อยกว่า เพียงแต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับ

 

 

4.หากทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายได้จะสามารถลดอันตรายให้กับผู้สูบ เพราะบางคนไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ แม้จะมีการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ก็ตาม แต่ปัจจุบันเหลือคนสูบบุหรี่อีกเกือบ 10 ล้านคน 

 

 

 

รู้จัก "บุหรี่ไฟฟ้า" 

 

บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่  ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา ถ้ากล่าวถึงเฉพาะส่วนของน้ำยาที่จะถูกทำให้เป็นไอและเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบจะประกอบด้วยสารประกอบหลัก ๆ คือ  

 

 

นิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ปกติทั่วไป เป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่
โพรไพลีนไกลคอล เป็นส่วนประกอบในสารสำหรับการทำให้เกิดไอ

 


กลีเซอรีน เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมผสานกับสารโพรไพลีนไกลคอล  องค์การอาหารและยา (FDA) ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย เช่นเดียวกันกับโพรไพลีนไกลคอล

 


สารแต่งกลิ่นและรส เป็นสารเคมีที่ใช้กับอาหารทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีความปลอดภัยเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย

 

 

 

ความอันตรายของ "บุหรี่ไฟฟ้า"

 

บุหรี่ไฟฟ้ามีกลไกการทำงานที่ไม่มีกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ธรรมดา ทำให้ผู้สูบลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัวเช่นน้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

 

 

นอกจากนี้ยังมีบางงานวิจัยที่ระบุว่า ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดา ทำให้สามารถถูกสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่า อนุภาคที่เล็กนี้จะจับเข้ากับเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วและยากที่ร่างกายจะขับออกมาได้

 

 

 

บุหรี่ไฟฟ้า ยังผิดกฎหมายอยู่

 

1.กฎหมายควบคุมเด็ดขาด ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย

 

 

2.บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าที่ห้ามขายหรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

เมื่อปี 2557 มีกฎหมายออกมาใหม่ ห้ามนำเข้าสินค้าบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งใน พรบ ศุลกากร ก็มีหลักการอยู่ว่า ใครรับไว้สินค้าที่ห้ามนำเข้า จะมีความผิด ดังนั้น การที่ใครครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นการรับไว้โดยประการใดๆ ทำให้เป็นความผิด 

 


กฎหมายที่ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 26 ธค 2557 และมีผลตั้งแต่นับถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนั้น ถ้าใครครอบครองบุหรี่ไฟฟ้ามาก่อน 27 ธค 2557 ไม่มีความผิด เพราะกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง นอกจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ยังรวมถึงบารากู่ สารสกัดต่างๆ ก็ห้ามนำเข้าเช่นเดียวกัน

 

 

 

แพทยสมาคม ไม่เห็นด้วยให้ "บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย"

 

แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ และสมาพันธ์เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ ชี้แจงถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทวงดิจิทัลฯ (นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์) อ้างว่ามี 67 ประเทศอนุญาตให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้ ให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของประเทศเหล่านั้นว่า แต่ละประเทศล้วนมีข้อแม้ และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น มิใช่ขายได้อย่างอิสระ และยังมีประเทศอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่อนุญาต (Ban) ให้มีการจำหน่าย ด้วยเหตุผลว่าเขาต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้”

 

 

ดังนั้นแพทยสมาคมฯ และ องค์กรร่วม จึงขอคัดค้านอย่างเต็มที่ในการที่จะมีการพิจารณาให้มีการยกเลิกประกาศของกระทรวงพาณิชย์ในการห้ามนำเข้า และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และขอเชิญชวนให้มีการต่อต้านการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เป็นกำลังในการช่วยกันพัฒนาประเทศชาติต่อไป

 

 

ส่วนการเลิกสูบบุหรี่นั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งหรืออาศัยบุหรี่ไฟฟ้า หากต้องการเลิกสูบจริง ๆ ทางเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่และเครือข่ายต่าง ๆ มีวิธีการและกำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่อย่างเต็มกำลัง ทั้งให้คำปรึกษา และ การจัดหายาเลิกบุหรี่ให้ ท่านสามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ โทรศัพท์ 1600 (โทรฟรีทุกเครือข่าย) คลินิกฟ้าใส 544 แห่งทั่วประเทศ และที่หน่วยบริการทางการแพทย์ทุกแห่ง

 

 

 

 

ข้อมูลจาก แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย , โรงพยาบาลกรุงเทพ , เพจ สายตรงกฎหมาย , ประชาชาติธุรกิจ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง