ไวรัสโคโรนา: สภาพอากาศร้อนชื้นฆ่าเชื้อไวรัส - หยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้จริงหรือ
ไวรัสโคโรนา: สภาพอากาศร้อนชื้นฆ่าเชื้อไวรัส - หยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้จริงหรือ - BBCไทย
ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าสภาพอากาศแบบเขตร้อนเช่นในประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การระบาดของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 ไม่เป็นไปอย่างรุนแรงเช่นในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือที่อยู่ในช่วงฤดูหนาวพอดี
ผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดก็มีอยู่หลายชิ้นที่สนับสนุนแนวความคิดนี้ ทำให้บรรดาประเทศในเขตหนาวพากันหวังว่า สถานการณ์ของโรคระบาดจะดีขึ้นเมื่อฤดูกาลที่อากาศอบอุ่นมาถึง แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจไม่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและฤดูกาล อย่างที่ใครหลายคนคาดหวังไว้
- ไวรัสโคโรนา : เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 มีชีวิตอยู่บนผิวได้นานเท่าไร
- ไวรัสโคโรนา : เชื้อโรคโควิด-19 อาจเป็น "ไคมีรา" มีพันธุกรรมไวรัสสองชนิดรวมกัน
ทำไมอากาศร้อนชื้นยับยั้งไวรัสได้ดีกว่า
ผลการศึกษาในอดีตว่าด้วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสโรคซาร์สที่เป็นญาติใกล้ชิดกับไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 ชี้ว่าไวรัสจำพวกนี้มีพฤติกรรมการแพร่ระบาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล โดยในกรณีของสหราชอาณาจักรมักจะพบการระบาดรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม - เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวที่มีสภาพอากาศเย็นและแห้ง แบบแผนการระบาดเช่นนี้ยังเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่หลายชนิดด้วย
งานวิจัยล่าสุดของคณะแพทย์ชาวจีนที่เผยแพร่ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ด้านแพทยศาสตร์ medRxiv.org ระบุว่าอุณหภูมิ ความเร็วลม และความชื้นสัมพัทธ์ในแต่ละพื้นที่ มีความเกี่ยวข้องกับอัตราการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนรายงานอีกชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดยบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านระบาดวิทยา Ausvet ก็ชี้ว่าบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงกว่าจะพบกรณีการติดเชื้อโรคโควิด-19 ต่ำกว่า
ด้านทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอทีของสหรัฐฯ ตีพิมพ์บทความในวารสารออนไลน์ SSRN โดยเผยข้อมูลว่า 90% ของการติดเชื้อโรคโควิด-19 เกิดขึ้นในภูมิภาคที่มีอุณหภูมิ 3-17 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมบูรณ์ 4-9 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประเทศซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย 18 องศาเซลเซียสขึ้นไป และมีความชื้นสัมบูรณ์สูงกว่า 9 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 6% ของกรณีทั้งหมดทั่วโลก
แม้จะดูเหมือนว่าผลการวิจัยส่วนใหญ่ให้ความหวังกับผู้ที่รอคอยให้ช่วงฤดูร้อนมาถึง เพื่อที่สภาพอากาศอันอบอุ่นและชุ่มชื้นมากขึ้นจะขับไล่โรคระบาดให้หายไปโดยอัตโนมัติ แต่ผลการวิจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเบื้องต้นที่จัดทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลในอดีตของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น ๆ มาเทียบเคียง รวมทั้งใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ทำนายคาดการณ์ล่วงหน้า เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ยังเกิดขึ้นไม่นานพอที่จะบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงฤดูกาลได้
อย่างไรก็ตาม มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์บางส่วนที่อาจให้คำตอบได้ว่า เหตุใดสภาพอากาศแบบร้อนชื้นจึงทำให้ไวรัสโคโรนาแพร่กระจายตัวได้ยากกว่าสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง
ไวรัสโคโรนานั้นมีเปลือกหุ้มเป็นชั้นไขมัน ซึ่งทำให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้มากกว่าไวรัสชนิดอื่น โดยในสภาพอากาศหนาวเย็นนั้น ไขมันที่เป็นเปลือกหุ้มจะจับตัวแข็งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยปกป้องอนุภาคไวรัสขณะที่อยู่นอกร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับการอยู่ในอากาศร้อนที่เปลือกไขมันจะถูกทำลาย
ยิ่งไวรัสสามารถคงสภาพเดิมในสิ่งแวดล้อมภายนอกได้นานขึ้นเท่าใด พวกมันก็ยิ่งมีโอกาสในการแพร่กระจายและทำให้ผู้คนติดเชื้อได้มากขึ้นเท่านั้น
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ฤดูหนาวของซีกโลกเหนือและตะวันตกมักขมุกขมัวไม่มีแดด ทำให้ผู้คนขาดวิตามินดี (D) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ นอกจากนี้อากาศที่เย็นและแห้งยังทำให้ปริมาณของเมือกเหนียวที่ร่างกายผลิตออกมาเคลือบเนื้อเยื่อปอดและทางเดินหายใจลดลง ทำให้ไม่สามารถป้องกันการโจมตีของไวรัสไปโดยปริยาย
ดร. วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ในสหรัฐฯ บอกด้วยว่า "สภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ทำให้อนุภาคไวรัสที่ล่องลอยในอากาศเพราะมีผู้ติดเชื้อไอหรือจามออกมา ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยละอองความชื้นขนาดเล็กมาก ซึ่งละอองนี้จะถ่วงให้ไวรัสตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว ไม่ล่องลอยอยู่นานเหมือนในสภาพอากาศที่แห้งและนิ่งสนิทไม่มีการถ่ายเท ทำให้ไวรัสในสภาพอากาศชื้นแพร่กระจายได้ยากกว่า"
การระบาดใหญ่อาจทำให้โควิด-19 ไม่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล
แม้จะมีปัจจัยหนุนมากมายที่ทำให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่อาจแพร่ระบาดได้อย่างหนักในเขตร้อน แต่ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน รวมทั้งผู้คนในโลกตะวันตกที่รอคอยฤดูร้อนมาถึงอย่างใจจดใจจ่อ ไม่ควรจะฝากความหวังในการยับยั้งโรคระบาดไว้กับสภาพอากาศมากนัก
ศ. ยาน อัลเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสจากสถาบันคาโรลินสกาของสวีเดน แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า "แม้การระบาดวงกว้างของไวรัสโคโรนาส่วนใหญ่ในอดีตจะบรรเทาลงได้เอง และกลายเป็นการระบาดตามฤดูกาลไปในที่สุด แต่ไวรัสที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มักไม่เดินตามรอยของแบบแผนนี้เสมอไป ตัวอย่างเช่นการระบาดหนักของไข้หวัดใหญ่สเปนนั้นเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ทั้งที่ไข้หวัดใหญ่ส่วนมากมักเกิดการระบาดในฤดูหนาว"
"สิ่งที่ยังเป็นคำถามอยู่ก็คือ ความอ่อนไหวของไวรัสโรคโควิด-19 ต่อฤดูกาลนั้น จะส่งผลต่อความสามารถในการแพร่ระบาดของมันระหว่างช่วงการระบาดใหญ่หรือไม่ เรื่องนี้เรายังไม่อาจรู้ได้แน่นอน"
"ความรุนแรงของการแพร่ระบาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเพียงอย่างเดียว การที่ไวรัสติดต่อจากคนสู่คน ทำให้ปัจจัยทางฤดูกาลอย่างอื่นเช่นกิจกรรมของมนุษย์ก็มีผลสำคัญด้วย เช่นช่วงที่โรคหัดแพร่ระบาดหนักมักเป็นช่วงเปิดเทอมของบรรดาเด็กนักเรียน ส่วนการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 จากเมืองอู่ฮั่นไปยังมณฑลอื่น ๆ ของจีน ก็เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้คนเดินทางกลับบ้านตอนเทศกาลตรุษจีน" ศ. อัลเบิร์ตกล่าว
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งยังชี้ให้เห็นว่า กรณีการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มประเทศเขตร้อนนั้น แม้จะเกิดขึ้นน้อยกว่าในเขตหนาว แต่ก็ยังมีการติดเชื้อเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจไม่มีความอ่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศและฤดูกาลเท่าที่คาดหวังกันไว้
ผลการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ พบว่าอัตราการแพร่ระบาดลุกลามของโรคโควิด-19 ในพื้นที่อากาศเย็นและแห้งของจีนอย่างมณฑลจี๋หลินและมณฑลเฮยหลงเจียง มีความใกล้เคียงกับอัตราการแพร่ระบาดในเขตร้อนเช่นเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและประเทศสิงคโปร์ ซึ่งข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ลำพังสภาพอากาศร้อนชื้นเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถยับยั้งหรือบรรเทาการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้