รีเซต

ฟาร์มสาหร่ายอัจฉริยะ ! เปลี่ยนเสียงการจราจร ช่วยสาหร่ายเร่งโตสร้างเชื้อเพลิงชีวภาพ

ฟาร์มสาหร่ายอัจฉริยะ ! เปลี่ยนเสียงการจราจร ช่วยสาหร่ายเร่งโตสร้างเชื้อเพลิงชีวภาพ
TNN ช่อง16
5 กุมภาพันธ์ 2567 ( 10:18 )
65
ฟาร์มสาหร่ายอัจฉริยะ ! เปลี่ยนเสียงการจราจร ช่วยสาหร่ายเร่งโตสร้างเชื้อเพลิงชีวภาพ

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเสียงรบกวนการการจราจรที่หนาแน่นบนท้องถนน จะสามารถเอามาใช้ประโยชน์ในการช่วยสร้างแหล่งเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนได้? และนี่คือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง อัลจีเวฟ (AlgaeWave) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้เสียงรบกวนจากการจราจร มาช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของสาหร่ายขนาดเล็ก ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) และสารชีวเคมีที่ยั่งยืนได้

ภาพจากรอยเตอร์ 

 

หน้าตาของอุปกรณ์นี้ จะคล้ายกับถังเลี้ยงสาหร่ายทรง 6 เหลี่ยม ที่มีระบบการทำงานที่จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักด้วยกัน ได้แก่ 

- ทวีตเตอร์ (tweeter) ทำหน้าที่เป็นเสมือนลำโพง เพื่อส่งเสียงเข้าไปในอุปกรณ์ส่วนถัดไป 

- เรโซเนเตอร์ (resonator) ซึ่งจะเปลี่ยนความถี่ของเสียงให้เป็น 400 เฮิรตซ์ และใช้สายโลหะขยายเสียงให้ดังขึ้น 

- และสุดท้ายคือ ตัวเชื่อมรูปตัว T (T-shaped connector) ซึ่งมีเมมเบรนทำหน้าที่ส่งผ่านเสียงเข้าไปยังฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่าย ซึ่งอยู่ด้านหลังของระบบทั้งหมด


ทีมนักวิจัยกล่าวว่า เทคโนโลยี อัลจีเวฟ (AlgaeWave) จะสามารถเปลี่ยนคลื่นสัญญาณรบกวนย่านความถี่กว้าง ให้เป็นความถี่เฉพาะ ที่เอื้อต่อการเติบโตของสาหร่ายขนาดเล็กได้ และนอกจากการดูดซับเสียงแล้ว มันยังสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์, อนุภาคขนาดเล็กระดับไมโคร และแสงแดด ซึ่งจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเลี้ยงสาหร่าย


โดยทีมวิจัยระบุว่า ระบบจะสามารถเพิ่มผลผลิตของชีวมวลของสาหร่ายได้มากถึงร้อยละ 30 และลดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายลงถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายแบบดั้งเดิม ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มความยั่งยืนให้กับการใช้งานสาหร่ายในด้านต่าง ๆ เช่น การใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงชีวภาพ ใช้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ และการใช้เป็นแหล่งอาหาร 

 

และนอกจากการผลิตสาหร่ายแล้ว มันยังช่วยกรองคาร์บอนไดออกไซด์และแปลงเป็นออกซิเจน ซึ่งมีส่วนช่วยในการฟอกอากาศในเมือง อีกทั้งโมดูลของอุปกรณ์ที่เป็นรูปทรงหกเหลี่ยม ยังสามารถนำไปวางต่อซ้อนกันได้ง่าย  โดยทีมพัฒนาตั้งใจที่จะนำระบบนี้ไปติดตั้งไว้ริมถนนที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่อทำหน้าที่เป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายและเป็นกำแพงกันเสียงไปได้ในตัว


เทคโนโลยีนี้ พัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบ รอยัล คอลเลจ ออฟ อาร์ต (Royal College of Art) ในสหราชอาณาจักร และ ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (University College London) โดยได้แรงบันดาลใจจากเสียงรบกวนขณะเดินทางตามท้องถนนในกรุงลอนดอน จนออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่เชื่อว่าใช้ได้จริงกับสังคมเมืองทั่วโลก


ข้อมูลจาก reutersconnect

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง