รีเซต

'จุรินทร์' ไม่ห่วงส่งออก แนะไทยเที่ยวไทย ดันจีดีพี ควบคู่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

'จุรินทร์' ไม่ห่วงส่งออก แนะไทยเที่ยวไทย ดันจีดีพี ควบคู่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
มติชน
16 ตุลาคม 2564 ( 11:25 )
29
'จุรินทร์' ไม่ห่วงส่งออก แนะไทยเที่ยวไทย ดันจีดีพี ควบคู่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมื่อเวลา 9.30 น.วันที่ 16 ตุลาคม ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อม นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเมธี อรุณ นักร้องนำวงลาบานูน ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการเปิดประเทศ ว่า เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น เพราะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกับโควิดต้องไปด้วยกัน โจทย์ 2 ข้อนี้ จะต้องทำไปพร้อมกัน เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย การเดินหน้าเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องจำเป็น

 

ในเศรษฐกิจตอนนี้มี 3 เรื่อง 1.เร่งรัดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น 2.การท่องเที่ยวที่ชะงัก จากนี้ไปการท่องเที่ยวนอกจากเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งไทยเที่ยวไทยเป็นอีกประเด็นที่ตนคิดว่าต้องสนับสนุน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนนักท่องเที่ยวเดินทางข้ามจังหวัดในประเทศไทยด้วยกันเอง และจะเป็นตัวกระตุ้นให้การท่องเที่ยวเติบโตได้อีกครั้งไม่เช่นนั้นจะกระทบ GDP

 

และ 3.การส่งออก ซึ่งไม่คิดว่า น่าเป็นห่วง เพราะทำงานร่วมกับเอกชนเต็มที่มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมชัดเจนเชื่อว่าหลังจากเดือนกันยายน อาจกระทบตัวเลขส่งออกบ้างแต่ยังเป็นบวกแน่นอน แต่เดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ จะดีขึ้นไปอีก ตัวเลขการส่งออกปี 2564 ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงเอกชน กับกระทรวงพาณิชย์จับมือกันแน่นเราเดินหน้าแก้ปัญหาเชิงรุกรวดเร็วมาก

 

และเรื่องเศรษฐกิจอื่นๆ กระทรวงพาณิชย์และตนเตรียมการล่วงหน้า เราไม่ทำเฉพาะเรื่องการทำตัวเลขส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่เราติดตามเฝ้าระวังภาวะเศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้าในอนาคตด้วย เช่น 1.เศรษฐกิจของประเทศ Bio Economy มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ เศรษฐกิจชีวภาพที่เรามีต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีวัตถุดิบปัจจัยเงื่อนไขในประเทศสูง เราสามารถขับเคลื่อนไปได้

 

2.เรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เราต้องหน้าต่อไป 3.ระบบการค้าขายแบบอีคอมเมิร์ซเป็นเรื่องที่ต้องรีบศึกษาทำความเข้าใจ เพราะข้อตกลงระหว่างประเทศทุกข้อตกลงมีการระบุเงื่อนไขเรื่องอีคอมเมิร์ซในนั้น ข้อตกลงระหว่างประเทศทั้ง FTA พหุภาคี เช่น RCEP หรือ APEC ภาคเอกชนต้องเร่งศึกษา และกระทรวงพาณิชย์ตนเป็นที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศและ APEC ตนก็นั่งเป็นประธาน เอกชนและทุกฝ่ายจะต้องติดตามประเด็นเพราะไปข้างหน้าเร็วมากทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันเพื่อเตรียมการให้เศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

และสุดท้ายต้องติดตามสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพราะขณะนี้มีการแบ่งค่ายทางเศรษฐกิจการเมืองในระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ออสเตรเลีย หรือกลุ่มประเทศอื่นๆ เพื่อกำหนดสถานการณ์สถานภาพของประเทศไทยว่าจะต้องยืนอยู่ตรงไหนและความสมดุลในการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ตรงจุดใด จะเป็นการบ้านที่เราต้องทำต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง