รีเซต

สรุปดราม่า ไฟเซอร์หายไปไหน? หลัง รพ. เริ่มออกมาแจง ได้รับจัดสรรวัคซีนแค่ 50-60%

สรุปดราม่า ไฟเซอร์หายไปไหน? หลัง รพ. เริ่มออกมาแจง ได้รับจัดสรรวัคซีนแค่ 50-60%
Ingonn
10 สิงหาคม 2564 ( 14:43 )
168

 

ไฟเซอร์หายไปไหน? เป็นคำถามที่ยังคงคาใจใครหลายๆ คนอยู่ในขณะนี้ แม้ทางกระทรวงสาธารณสุขจะออกหลักเกณฑ์ในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับบุคลากรด่านหน้าแบบล่าสุดออกมาแล้ว แต่ยังคงมีเสียงจากแพทย์ พยาบาลหลายคนที่ออกมาแจ้งว่า ไม่ได้รับตรงตามเกณฑ์ บางจังหวัดก็ไม่ได้ยึดตามหลักการแทบจะจับฉลากกันฉีดวัคซีน ซึ่งมีทั้งคนได้และไม่ได้ ทำให้เสียขวัญและกำลังใจบุคลากรทางแพทย์

 

 

จากเหตุวัคซีน #ไฟเซอร์หายไปไหน ที่เรารู้ว่าได้รับการจัดสรรไม่ตรงตามความต้องการและไม่รู้ยังคงมีอีกเป็นจำนวนมาก วันนี้ TrueID จึงจะพามาไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากปรับเกณฑ์การให้วัคซีนกับด่านหน้าไป 

 

 

เกณฑ์การให้วัคซีนไฟเซอร์แก่บุคลากรทางการแพทย์ล่าสุด


1.บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ กระตุ้น 1 เข็ม

 


2.บุคลากรที่ได้รับวัคซีนใดๆมาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลักตามที่เข็มแรกกำหนด เช่น เข็มแรกกำหนดว่า ให้ฉีดเข็ม 2 ใน 3 สัปดาห์ก็เป็นไปตามนั้น

 


3.บุคลากรที่ไม่เคยได้รับวัคซีนใดๆมาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์

 


4.บุคลากรที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน และไม่เคยได้รับวัคซีน พิจารณาให้รับวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน

 

 


บุคลากรทางการแพทย์คนไหนจะไม่ได้รับไฟเซอร์ 


1.เคยฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มแรก และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 หรือสูตรสลับไขว้ 

 


2.เคยฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม คือ ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯไป 1 เข็มและมีกำหนดรับแอสตร้าฯเข็ม 2 

 


3.เคยฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ 1 เข็ม

 

 

 

จากกระแสหลายโรงพยาบาลจัดสรรโควตาวัคซีนไฟเซอร์ไม่เพียงพอต่อจำนวนบุคลากรผู้ผ่านเกณฑ์ ทำให้ต้องจัดสรรวัคซีนโดยลำดับความเสี่ยงของบุคลากรฯ ด่านหน้าจากมากไปน้อย ทั้งที่ในความเป็นจริงด่านหน้าทุกคนล้วนมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน อีกทั้งเกณฑ์ที่ใช้กำหนดยังไม่อาจสอบทานได้ บางโรงพยาบาลยืนยันว่าจะฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster dose) หลังบุคลากรฯ ได้รับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) 2 เข็มเท่านั้น ซึ่งเป็นการยึดตามเกณฑ์เก่าไม่ใช่เกณฑ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการจัดสรรไฟเซอร์ให้แต่ละจังหวัดอย่างไม่สอดคล้องกับการระบาด ไม่มีข้อกำหนดชัดเจนแจ้งว่า เหตุใดบางจังหวัดจึงได้รับวัคซีนมากกว่าจังหวัดที่มีการระบาดมากกว่า ฯลฯ 

 

 

ทำให้ ภาคีบุคลากรสาธารณสุข ออกมาโพสต์เชิญชวนบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับวัคซีนไฟเซอร์และแสดงเจตจำนงขอรับแล้วแต่ไม่ได้รับร่วมลงชื่อ เพื่อส่งเสียงบอกว่ามีด่านหน้าอีกจำนวนเท่าใดที่ไม่ได้รับวัคซีนที่ควรได้รับ เพื่อช่วยกันส่งข้อมูลการบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่เป็นไปตามคำสัญญามารวบรวมไว้อย่างเป็นระบบเพื่อนำไปขับเคลื่อนเชิงนโยบายในอนาคตต่อไป

 

 

 


เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ จึงมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ต่อกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

 

 1. จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster dose), เป็นวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สองสำหรับผู้ไม่เคยฉีด, เป็นวัคซีนเข็มที่สองสำหรับผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว,  อีกทั้งจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า “ทุกคน” ที่ประสงค์จะรับวัคซีน  ทั้งนี้หากจำนวนวัคซีนที่จัดสรร 700,000 โดสไม่เพียงพอ เราขอเรียกร้องให้รัฐจัดหาวัคซีน mRNA ให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นการเร่งด่วน 

 


2. เปิดเผยว่ารัฐใช้เกณฑ์ใดในการจัดสรรวัคซีนให้แก่จังหวัดต่างๆ และโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม 

 


3. เปิดเผยจำนวนวัคซีนไฟเซอร์ที่แต่ละจังหวัดส่งชื่อยื่นขอ และจำนวนที่จัดสรรให้จริงทุกจังหวัด 

 


4. แจ้งแผนการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ล็อตที่สองซึ่งเตรียมส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทั้งจำนวน และการกระจายไปยังแต่ละจังหวัด

 

 


ทั้งนี้ระหว่างข้อเรียกร้องต่างๆ กำลังเดินทางต่อไปถึงรัฐ เราอยากขอเชิญชวนบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้รับไฟเซอร์แต่ไม่ได้รับ ร่วมกันส่งข้อมูลตามลิ้งค์ https://tinyurl.com/WhereIsOurPfizer หรือ QR code ที่ปรากฎ เพื่อแสดงเจตจำนงและพลังของพวกเราอีกทางหนึ่ง อีกทั้งข้อมูลที่ได้เราจะรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบเพื่อนำไปขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป

 

 


หลายโรงพยาบาลได้รับไฟเซอร์ไม่ตรงตามเป้า ต้องจับฉลากเลือกคนฉีด

 

 

โรงพยาบาลขอนแก่น 


โรงพยาบาลขอนแก่น เคยออกมาระบุว่า ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์สำหรับฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าเพียง 700 โดส ทั้งๆ ที่มีการขอไปทั้งหมด 1,400 พันโดส จากการสอบถามความสมัครใจในการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสของบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าในจังหวัดขอนแก่น มีทั้งคนที่อยากฉีดแอสตร้าเซนเนก้า และคนที่จะฉีดไฟเซอร์ ซึ่งในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์มีจำนวนผู้ที่ต้องการฉีด 1.8 หมื่นคน แต่วัคซีนส่งมาล็อตแรก 9,360 โดส จึงต้องจัดสรรที่ได้มาให้สถานพยาบาลทุกแห่ง และลำดับความสำคัญในการฉีดให้กับบุคลากรของตัวเอง ระหว่างนี้หากรพ.ไหนมีความจำเป็นมาก จำเป็นน้อย สามารถทำเรื่องยืมวัคซีนกันข้ามเขตได้

 

 


โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์


เพจ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ได้พูดถึงการส่งรายชื่อแพทย์พยาบาล เภสัชกร นักรังสีเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์และจนท.เวรเปล ตลอดถึงบุคลากรอื่นๆที่ทำงานด่านหน้าในโรงพยาบาล ที่แสดงความจำนงขอรับวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่สามเป็นวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer ที่ได้รับบริจาคมาจากสหรัฐอเมริกาไปที่กระทรวงโดยผ่านจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ตามกติกาและเงื่อนไขที่สธ. กำหนดทุกอย่าง

 

 

แต่เมื่อวันศุกร์บ่ายได้รับทราบว่า ได้รับการจัดสรรให้บุคลากรด่านหน้าเพียงร้อยละ 60 ของจำนวนคนที่ส่งรายชื่อไปเท่านั้น ทั้งที่เราระบุชื่อ ตำแหน่งหน้าที่ และส่งรายชื่อผู้ที่จะขอฉีด บูสเตอร์ Pfizer ไปไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนบุคลากรทั้งหมดที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลในขณะนี้ด้วยซ้ำ

 

 

ความยากลำบากของการบริหารงานก็คือ เราจะอธิบายกับกลุ่มแพทย์แต่ละกลุ่มที่ทำหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลได้อย่างไรว่าในกลุ่มแพทย์สาขานี้ ในจำนวน 15 คนที่ร้องขอ จะมีแพทย์ได้รับวัคซีนเพียงเก้าคน อีกหกคนไม่ได้และเราจะอธิบายกับพยาบาลในวอร์ด ICU โควิดได้อย่างไรว่า 10 คนที่ทำงานอยู่ในวอร์ดเดียวกัน และเคยฉีดวัคซีนซิโนแวค Sinovac มาคนละสองเข็มนั้น จะมีคนได้รับวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer เพียงหกคนเท่านั้น อีกสี่คนให้รอไปก่อน

 

 

ซึ่งหลังจากมีการโพสต์ไป ล่าสุดวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เพจ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ระบุว่า วันนี้เราได้รับข่าวดีที่จะช่วยแก้ปัญหาข้อถกเถียงในโรงพยาบาล เรื่องการจัด priority ของบุคลากรที่จะได้ฉีดก่อนหลังแล้ว โดยกรมควบคุมโรคได้จัดส่งวัคซีนสำหรับบุคลากรส่วนที่ยังจัดให้ขาดอยู่อีก 40% จำนวน 835 คนให้เราเรียบร้อยแล้วในบ่ายวันนี้  ขอขอบคุณ คร. ที่เห็นความสำคัญในการดูแลขวัญกำลังใจของคนที่รบอยู่แนวหน้าใน รพ.ต่างๆทั่วประเทศด้วย 

 

 

 


ทหารได้ฉีดไฟเซอร์ เพราเป็นด่านหน้าจริง!?!


จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพและข้อความเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 ที่โรงพยาบาลเลย ด้วยสิทธิโครงการพิเศษ โดยบัตรบริการปรากฏยศ “สิบเอก” พร้อมใส่แคปชั่นภาพ “Moderna จ๋าพี่คงรอน้องต่อไหว วันนี้พี่ขอนอกใจมาซบน้อง Pfizer ก่อนนะ” 

 

 

ล่าสุด นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย เปิดเผยว่า กรณีที่มีการแชร์ในโลกโซเซียลที่เป็นข่าวไปนั้น ทหารนายนี้คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลค่ายศรีสองรัก มณฑลทหารบกที่ 28 โดยในค่ายทหารเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสนาม มีทั้งหมด 400 เตียง และบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วย รับผู้ป่วย ฉะนั้น บุคลากรเหล่านี้ก็สมควรที่จะได้รับวัคซีน ถึงเขาไม่ใช่วิชาชีพทางการแพทย์ก็ตาม พร้อมยืนยันว่าทางสาธารณสุขจังหวัดเลย ได้ฉีดให้กับบุคลากรจริงๆ ไม่มีนอกกลุ่มแน่นอน 

 

 

 

 

หลังจากกระแสวัคซีนไฟเซอร์ มีการจัดสรรที่ชวนให้สงสัยในมาตรฐานการการจัดสรรให้แต่ละพื้นที่ รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนไฟเซอร์อย่างเป็นธรรม ไม่ต้องมีการแบ่งจับฉลากฉีด ทำให้โลกโซเชียลต่างพากันติดแฮชแท็ก #ไฟเซอร์หายไปไหน บนโลกออนไลน์ เพื่อส่งถึงรัฐบาลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรต่อไป

 


ข้อมูลจาก ภาคีบุคลากรสาธารณสุข , โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ , โรงพยาบาลขอนแก่น , Hfocus

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง