รีเซต

อาลัย "หลินฮุ่ย" วิทยาศาสตร์แพนด้าอยากบอกให้รู้

อาลัย "หลินฮุ่ย" วิทยาศาสตร์แพนด้าอยากบอกให้รู้
TNN ช่อง16
19 เมษายน 2566 ( 14:14 )
75
อาลัย "หลินฮุ่ย" วิทยาศาสตร์แพนด้าอยากบอกให้รู้

เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนน่าจะรู้ข่าวการจากไปของ "หลินฮุ่ย" ในวัย 21 ปี แพนด้าของสวนสัตว์เชียงใหม่ไปกันแล้ว ทาง TNN Tech เองก็อยากจะขออาลัยต่อหลินฮุ่ย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ให้คนไทยได้มีความสุขมาโดยตลอด กับคอนเทนต์ที่จะสรุปเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับแพนด้า ซึ่งอ้างอิงและวิจัยโดยทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว



"แพนด้า" คืออะไร ?


"แพนด้า" มีชื่อเต็ม ๆ ว่า "แพนด้ายักษ์" และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ailuropoda melanoleuca เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถูกจัดอยู่ในวงศ์หมี มีถิ่นอาศัยหลัก ๆ อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้และตอนใต้ตอนกลางของประเทศจีน มักพบพวกมันบนความสูง 5,000 ถึง 10,000 ฟุต สภาพแวดล้อมมักเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกหนักหรือหมอกหนาทึบตลอดทั้งปี ทำให้ป่าเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะ ที่มักจะปกคลุมไปด้วยเมฆที่หนาทึบ


แพนด้าตัวเมียที่โตเต็มวัยจะหนัก 100-115 กิโลกรัม (ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมีย) ยาว 150-190 เซนติเมตร สามารถปีนขึ้นที่สูงได้ถึง 4 กิโลเมตร และยังว่ายน้ำเก่งมาก บางครั้งแพนด้าตัวผู้จะผ่อนคลายตัวเองด้วยการยืนพิงกับต้นไม้



การกินอาหารของ "แพนด้า"


พวกมันแทบไม่กินอะไรเลย นอกจากหน่อไม้ ไผ่และใบไม้ โดยบางครั้งพวกมันกินพืชผัก ปลา หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอื่น ๆ ด้วย แต่ไผ่คิดเป็น 99% ของอาหารที่แพนด้ากินทั้งหมด ทั้งนี้พวกมันกินอาหารเร็วและกินเยอะมาก โดยใช้เวลาการกินไปกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ที่เป็นแบบนั้น เพราะแพนด้าเป็นสัตว์ที่ย่อยสิ่งที่กินไปได้เพียง 1 ใน 5 ส่วนเท่านั้น และไผ่ก็ไม่ใช่พืชที่มีโภชนาการเยอะ ทำให้แพนด้าต้องกินไผ่ให้มากถึง 15% ของน้ำหนักตัวภายในเวลา 12 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวมันเองมีสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรงมากที่สุด



ฟันกรามของแพนด้ากว้างและแบนมาก ช่วยให้มันสามารถบดหน่อไม้ ใบไม้ และลำต้นไผ่ที่มันกินได้ง่าย ๆ โดยแพนด้าสามารถแทะไผ่ที่หนาถึง 1 นิ้วครึ่งได้เลย ในลำไส้ของพวกมันมีจุลินทรีย์ชีวภาพที่ช่วยให้สามารถย่อยสลายเซลลูโลสในต้นไผ่และช่วยในการดูดซึมพลังงานได้อีกด้วย


แพนด้ามีการขับถ่ายออกมาเป็นจำนวนมาก ตามปริมาณอาหารที่กินเข้าไปเยอะ สิ่งนี้ช่วยกระจายเมล็ดไผ่ออกไปยังที่ต่าง ๆ มากมาย ทำให้แพนด้ามีสภาพแวดล้อมที่ยังมีไผ่สำหรับใช้กินหรืออาศัยอยู่ต่อไปได้



ทำไมแพนด้าถึงต้องมี "สีขาวดำ"


เหตุผลที่แพนด้ามีขนสีขาวดำ ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าเพราะอะไร แต่จากการสันนิษฐานคาดว่า ด้วยสีที่เข้ม ทำให้แพนด้าสามารถพรางตัวในกอไผ่หนา กองหินที่ปกคลุมด้วยหิมะได้ แต่ด้วยการที่แพนด้าไม่มีศัตรูตามธรรมชาติให้หลบซ่อน ทำให้มีคนมองว่าสีของแพนด้านี้เกิดจากสังคมของแพนด้าเอง พวกมันเป็นสัตว์ขี้อาย รักสันโดษ ไม่ชอบเข้าสังคม การมีสีที่ชัดจะทำให้ระบุตัวตนจากระยะไกลได้


อีกทฤษฎีมองว่าสีดำจะดูดซับความร้อนในขณะที่สีขาวจะสะท้อนความร้อนออกไป ช่วยให้แพนด้ารักษาอุณหภูมิของตัวเองให้คงที่ได้นั่นเอง



สังคมของ "แพนด้า"


แพนด้ามักส่งเสียงออกมาเป็นครั้งคราวเมื่อกำลังเล่น ในระหว่างการผสมพันธุ์ พวกมันจะเปล่งเสียงออกมามาก การเปล่งเสียงของพวกมันมีรายละเอียดหลายอย่าง ใช้สำหรับเพื่อแสดงอารมณ์ทุกเฉดของพวกมัน ตั้งแต่ความรักไปจนถึงความโกรธ


การสื่อสารของแพนด้าส่วนใหญ่ จะทำได้โดยการระบุกลิ่นให้ทั่วที่อยู่อาศัยและอาณาเขตของพวกมัน พวกมันจะทำเครื่องหมายอาณาเขตด้วยการถูสารคัดหลั่งจากต่อมทวารของลงบนลำต้นของต้นไม้ โขดหิน หรือพื้นดิน ซึ่งมักจะอยู่ตามเส้นทางที่พวกมันเหยียบเป็นประจำ



การดมกลิ่นจะแจ้งเตือนแพนด้าในบริเวณใกล้เคียงให้รู้กันและกัน ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เครื่องหมายกลิ่นของตัวเมียจะสื่อถึงความพร้อมทางเพศของพวกเธอ และจะดึงดูดตัวผู้ให้เข้ามาหา ตัวเมียจะมีแนวโน้มจะยอมรับตัวผู้ที่มีกลิ่นที่รู้จักและเคยสัมผัสมาก่อน แพนด้าตัวเมียจะตกไข่เพียงปีละครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น


แพนด้าตัวเมียจะให้กำเนิดลูกแพนด้าหลังผสมพันธุ์ 90 ถึง 180 วัน ตัวเมียมีโอกาสให้กำเนิดลูกสองตัว แต่โดยปกติจะมีเพียงตัวเดียวที่รอดชีวิตเท่านั้น ทำให้ในช่วงชีวิตหนึ่ง แพนด้าจะมีการเลี้ยงลูกเพียง 5-8 ตัว ทั้งนี้ลูกแพนด้าจะไม่ลืมตาจนกว่าจะมีอายุ 6-8 สัปดาห์ และจะไม่เคลื่อนไหวจนกว่าจะมีอายุ 3 เดือน



โดยทั่วไป แพนด้าที่โตเต็มวัยจะอยู่แบบโดดเดี่ยว แต่พวกมันก็มีการสื่อสารกันเป็นระยะ ๆ ผ่านทางกลิ่น เสียง และการพบปะกันครั้งคราว จากการวิจัยพบว่าแพนด้าจะสร้างชุมชนที่มีสมาชิก 7-15 ตัวในพื้นที่ ตัวผู้จะมีการสร้างอาณาเขตที่ซ้อนทับกันเกือบทั้งหมด ในขณะตัวเมียจะมีการซ้อนทับกันน้อยกว่า ลูกแพนด้าจะอยู่กับแม่ในช่วงปีครึ่งถึงสามปีเท่านั้น


ช่วงชีวิตของแพนด้า


แพนด้ามักจะงีบหลับระหว่างการกินครั้งละ 2-4 ชั่วโมง และจะมีการขับถ่ายในขณะที่หลับอยู่ด้วย โดยจำนวนของมูลที่จุดพักสามารถใช้วัดระยะเวลาสัมพัทธ์ที่แพนด้ายักษ์ใช้ที่จุดพักได้ ปกติแพนด้าจะพัก 2-4 ชั่วโมง แต่อาจเพิ่มเป็น 6 ชั่วโมงหรือมากกว่าได้ในช่วงฤดูร้อน



นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถคะเนได้ ว่าแพนด้าที่อาศัยอยู่ในป่ามีชีวิตนานเท่าใด แต่พวกในป่ามักมีอายุขัยที่สั้นกว่าพวกที่อยู่ในสวนสัตว์ โดยประเมินว่าพวกในป่าจะมีอายุขัยประมาณ 15-20 ปี และประมาณ 30 ปีสำหรับแพนด้าที่อยู่ในความดูแลของมนุษย์


นักวิทยาศาสตร์จีนรายงานว่าแพนด้าในสวนสัตว์มีอายุได้ 35 ปี โดย ซิง-ซิง ของสวนสัตว์แห่งชาติสมิธโซเนียนเสียชีวิตเมื่ออายุ 28 ปีในปี 1999

ข่าวที่เกี่ยวข้อง