รีเซต

หลังท่องเมืองกว่า 500 ก.ม. นานกว่า 1 ปี โขลงช้างป่ายูนนานก็มุ่งหน้ากลับบ้านที่สิบสองปันนา

หลังท่องเมืองกว่า 500 ก.ม. นานกว่า 1 ปี โขลงช้างป่ายูนนานก็มุ่งหน้ากลับบ้านที่สิบสองปันนา
มติชน
10 สิงหาคม 2564 ( 14:39 )
60

 

เอพีรายงานเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมนี้ว่า ฝูงช้างสายพันธุ์เอเชียซึ่งสร้างความประหลาดใจแกมทึ่งไปทั่วโลก เมื่อยกโขลงออกจาก เขตอนุรักษ์ธรรมชาติซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาของชนเผ่าไต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ออกเดินทางขึ้นเหนือ เตร็ดเตร่ไปตามชุมชนเมืองหลายแห่งในพื้นที่มณฑลยูนนาน นานกว่าปี บุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อหาอาหาร รวมทั้งบุกเข้ารื้อค้นหาอาหารในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่งก่อนหน้านี้ กินระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร ในที่สุดก็เริ่มหันหน้ากลับลงใต้ มุ่งหน้าไปยังถิ่นอาศัยเดิมแล้ว

 

 

ทางการท้องถิ่นรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ พยายามติดตามความเคลื่อนไหวของช้างโขลงนี้อย่างใกล้ชิดโดยอาศัยเครื่องมือหลากหลาย ทั้งรถบรรทุก กำลังคนและโดรน ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่า โขลงช้างปลอดภัย ในเวลาเดียวกันก็ใช้อาหารที่จัดเตรียมมา เพื่อล่อโขลงช้างให้ออกจากพื้นที่ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น แม้ว่าถึงที่สุดแล้วช้างทั้งโขลงจะยังคงบุกเข้าหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน และยังเฉียดผ่าน นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานอีกด้วย แต่ทั้งคนในเส้นทางและช้างทั้งหมดก็ปลอดภัย ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือแม้แต่แตกตื่นแต่อย่างใด

 

 

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อคืนวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ช้างโขลงนี้ มีทั้งช้างพัง ช้างพลายและลูกช้าง หลายขนาดและอายุ รวมทั้งสิ้น 14 ตัว ถูกตะล่อมให้มุ่งหน้าขึ้นสะพานข้ามลำน้ำ หยวนเจียง ได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งยังบ่ายหน้าไปบนเส้นทางที่จะกลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของตนในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ยังอยู่ห่างจากถิ่นอาศัยเดิมราว 200 กิโลเมตร โดยสำนักงานบริหารทุ่งหญ้าและป่าไม้แห่งชาติ (เอ็นเอฟจีเอ) ของจีนระบุว่า แม้จะยังอยู่ห่างจากถิ่นอาศัยเดิม แต่เมื่อข้ามแม่น้ำหยวนเจียงไปแล้ว พื้นที่ก็เป็นพื้นที่ป่าที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของโขลง ช้างได้แล้วเช่นกัน

 

 

ทั้งนี้ ช้างโขลงนี้ เคยสร้างความฮือฮาเป็นกระแสไปทั่วโลก หลังจากตระเวนไปเรื่อยๆ เป็นระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร โดยที่ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แน่ชัด แล้วไปหยุดชะงักบริเวณชานเมืองคุนหมิงก่อนหันกลับบ่ายหน้าลงใต้ในที่สุด โดยไม่มีใครรู้สาเหตุเช่นเดียวกัน

 

 

ก่อนหน้านี้ มีพลายตัวหนึ่งแตกออกจากโขลง มุ่งหน้ากลับถิ่นเดิมตามลำพัง ทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจยิงยาสลบแล้วนำตัวกลับคืนสู่เขตอนุรักษ์ธรรมชาติไปแล้ว

 

 

ช้างป่า ถือเป็นสัตว์อนุรักษ์สูงสุดในจีน ซึ่งส่งผลให้จำนวนประชากรช้างเพิ่มมากขึ้นเป็นราว 300 ตัวแล้วในเวลานี้ แม้ว่าพื้นที่ป่าสำหรับอยู่อาศัยตามธรรมชาติจะลดลงเพราะการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมและเขตเมืองก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง