รีเซต

ระบบอัตโนมัติ สู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล

ระบบอัตโนมัติ สู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล
มติชน
11 ธันวาคม 2563 ( 14:28 )
111

ปัจจุบัน มีการพูดเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล กันอย่างแพร่หลาย แต่เบื้องหลังจากเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็ต้องมีเครื่องมือมากมายคอยเป็นกำลังเสริมอยู่

และระบบอัตโนมัติ ก็เป็นหนึ่งในเบื้องหลังของการไปสู่การเปลี่ยนไปลงสู่ดิจิทัล

 

โจเซฟ การ์เซีย รองประธานและผู้จัดการทั่วไป, Asian Growth & Emerging Markets (GEMs), เร้ดแฮท ระบุว่า องค์กรในอาเซียน ให้ความสำคัญและเทความสนใจไปกับระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยในสถานการณ์ปี 2563 เป็นสิ่งที่องค์กรจำนวนมากไม่เคยเผชิญหรือคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น และแสดงให้องค์กรเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งความพยายามในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลให้เร็วขึ้น แทนที่จะหยุดชะงักไปตามสถานการณ์

 

โดยผลการศึกษาของ Harvard Business Review ระบุว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิกระบุว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นทวีความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจากสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิกที่กำลังพัฒนาและส่งแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของผู้บริหารในภูมิภาคอื่นของโลกที่อยู่ที่ 23 เปอร์เซ็นต์ การที่องค์กรต่างๆ เร่งดำเนินงานตามโปรแกรมดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นของตนให้เร็วขึ้น องค์กรเหล่านั้นควรพิจารณาว่าระบบอัตโนมัติคือก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้

 

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่ทีมไอทีต้องเจอคือ การหาวิธีลดกระบวนการและการทำงานแบบแมนนวลลง

โดยผลการศึกษาของ IDC ที่สนับสนุนการจัดทำโดยเร้ดแฮทพบว่า 86 เปอร์เซ็นต์ ของผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีกล่าวว่า “ระบบอัตโนมัติมีความสำคัญมาก ต่อกลยุทธ์การใช้คลาวด์ในอนาคตขององค์กร”

 

ขณะที่คุณค่าที่เห็นได้ชัดของระบบอัตโนมัติคือการขจัดการทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการลดค่าใช้จ่าย การนำระบบอัตโนมัติไปใช้ในกิจกรรมหรือกลุ่มงานต่างๆ หมายถึงการลดเวลาในการทำงานแบบแมนนวลลงไป

 

ด้านนายกวินธร ภู่ตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของเร้ดแฮท ได้กล่าวถึงเรื่อง “ระบบอัตโนมัติ” ไว้ว่า เรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น มีการพูดถึงกันมานานแล้ว และเบื้องหลังดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ก็มีการทำงานที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ ออโตเมชั่น หรือระบบอัตโนมัติ ที่จะมาพูดถึงกันในวันนี้

ออโตเมชั่น ก็คือระบบอัตโนมัติ ที่นำเข้าไปจัดการการทำงานต่างๆ เช่น งานที่ต้องทำซ้ำๆ บ่อยๆ อย่างเช่นว่า ถ้าธนาคารแห่งหนึ่งต้องการอัพเกรดอุปกรณ์ แต่เนื่องจากมีสาขาจำนวนมาก ก็จะต้องให้ทีมไอที เข้าไปเขียนโค้ดให้มีการอัพเกรดอุปกรณ์โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องให้พนักงานเข้าไปอัพเกรดที่ละเครื่อง

 

นายกวินธรกล่าวว่า สำหรับระบบอัตโนมัตินั้น ก็จะมีทั้งแบบที่เป็นซอฟต์แวร์ หรืออาจจะเป็นเครื่องจักร แต่ที่จะพูดถึงกันครั้งนี้ จะเป็นซอฟต์แวร์ออโตเมชั่น ไม่ใช่เครื่องจักร และทางเร้ดแฮทเอง มีซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งที่สามารถโปรแกรมสั่งงานให้ทำเป็นระบบอัตโนมัติได้ เป็นโซลูชั่นที่เรียกว่า Ansible (แอนซิเบิล)

โดย Ansible นี้ ทำเป็นโอเพนซอร์ส โมเดลของเร้ดแฮท ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปใช้จะต้องได้รับสิทธิก่อน เพื่อที่จะได้สามารถตามได้ทีหลังว่า ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว และยังสามารถดุว่า เพื่อนร่วมงานเอาไปใช้กับงานอื่นได้หรือไม่ ที่สำคัญคือ Ansible นี้ เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ใช้การเขียนเพลย์บุ๊ก เป็นภาษาที่คนที่เข้ามาดูสคริปต์ได้ง่ายๆ

 

นายกวินธรกล่าวด้วยว่า ออโตเมชั่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การทำงานรวดเร็วมากขึ้น และ Ansible ก็ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการทำออโตเมชั่น

โดยออโตเมชั่นนั้น มีการนำมาใช้งานกันอยู่แล้ว ก่อนช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้น ก็อาจจะมีส่วนที่จะต้องทำให้ต้องนำออโตเมชั่นไปใช้มากขึ้น เพราะงานบางอย่างอาจจะไม่สามารถไปทำที่หน้าไซต์งานได้ อาจจะไม่สามารถไปทำที่ดาต้าเซ็นเตอร์ได้ ต้องสั่งงานจากทางไกล สั่งให้ระบบทำงาน ทำเป็นระบบออโตเมตมากขึ้น

 

สำหรับการทำออโตเมชั่นนั้น จุดหมาย ไม่ใช่การลดคน หรือเอาไปแทนคนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะถึงที่สุดแล้ว จะเอาออโตเมชั่นมาทำงาน ก็ต้องให้คนมาเขียนระบบอยู่ดี

ถึงอย่างไรก็ตาม ออโตเมชั่น ก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลให้รวดเร็วขึ้นนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง