รีเซต

สรท.คาดส่งออกต้นปี65 ขยายตัว 5-8% โควิด-ขาดแรงงาน ปัจจัยเสี่ยง จี้แก้ปัญหา

สรท.คาดส่งออกต้นปี65 ขยายตัว 5-8% โควิด-ขาดแรงงาน ปัจจัยเสี่ยง จี้แก้ปัญหา
มติชน
11 มกราคม 2565 ( 15:13 )
36
สรท.คาดส่งออกต้นปี65 ขยายตัว 5-8% โควิด-ขาดแรงงาน ปัจจัยเสี่ยง จี้แก้ปัญหา

สรท.มั่นใจส่งออกปี 2564 โต 15-16% คาดปี 2565 ขยายตัวได้ 5-8% จี้แรงงาน เร่งแก้ปัญหาขั้นตอนและช่วยเรื่องต้นทุน นำเข้าแรงงานต่างด้าว

 

เมื่อวันที่ 11 มกราคม นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,647 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 24.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 783,424 ล้านบาท ขยายตัว 33.5% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนขยายตัว 19.4%)

 

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,629 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 20.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 759,679 ล้านบาท ขยายตัว 28.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 เกินดุลเท่ากับ 3,927 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 15,545 ล้านบาท

 

นายชัยชาญ กล่าวว่า ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – พฤศจิกายนของปี 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 246,243 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,731,390 ล้านบาท ขยายตัว 17.5% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วง 11 เดือนนี้ขยายตัว 19.4%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 242,315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 29.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,715,844 ล้านบาท ขยายตัว 30.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – พฤศจิกายนของปี 2564 เกินดุล 3,927 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 15,545 ล้านบาท

 

นายชัยชาญ กล่าวว่า สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตถึง 15-16% และคาดการณ์ปี 2565 เติบโต 5-8% (ณ เดือนมกราคม 2565) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

 

1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) สายพันธุ์ โอมิครอน ทั่วโลกรวมถึงไทย ที่มีการพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย แม้รายงานผลกระทบจากการติดเชื้อยังคงไม่รุนแรงนัก แต่รัฐบาลหลายประเทศต้องพิจารณาทบทวนเรื่องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใด และหากนำกลับมาใช้อีกจะต้องเข้มงวดในระดับไหน ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

 

2.แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัว

 

นายชัยชาญ กล่าวว่า 3.ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหาการจัดสรรพื้นที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปลายปี 2565 และ 4.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

 

นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของ สรท. คือ ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับเหมาะสม ขอให้กระทรวงพลังงาน ควบคุมต้นทุนพลังงานให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด และขอให้รัฐบาลเร่งเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป

 

นายชัยชาญ กล่าวว่า นอกจากนี้ ขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือเรื่องปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต ดังนี้ 1.กำหนดพื้นที่บริหารจัดการส่วนกลาง หรือศูนย์การบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) สำหรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว อาทิ จุดคัดกรองด้านสาธารณสุขและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการตรวจสอบ รวมถึงให้สามารถดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในจุดเดียว 2.อำนวยความสะดวกพื้นที่ในการกักตัว โดยอาจนำสถานที่ราชการที่เหมาะสม มาปรับใช้ในการกักตัวให้กับแรงงานต่างด้าว ระหว่างรอผลตรวจและการดำเนินเอกสาร 3. ค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม บันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) สูงมาก จากช่วงก่อนโควิด ที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อคน เพิ่มเป็น 12,000 – 22,000 บาทต่อคน ในปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคเอกชนจำต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วน อาทิ ค่าบริการตรวจโควิด (ครั้งละ 1,300 เหลือ 800 บาท) ค่าสถานที่กักตัว (จากวันละ 500 เหลือวันละ 300 บาท) ค่าประกันโควิดและชุดตรวจเอทีเค เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง