รีเซต

เด็กจะอยู่อย่างไร เมื่อพ่อแม่ติดเชื้อโควิด-19

เด็กจะอยู่อย่างไร เมื่อพ่อแม่ติดเชื้อโควิด-19
มติชน
1 กันยายน 2564 ( 11:07 )
58

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขยับเข้ามาใกล้ตัวขึ้นทุกที ที่น่าห่วงคือ โรคอุบัติใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว อย่างกรณีติดโควิดทั้งครอบครัว ตามกระบวนการคือต้องแยกกันไปรักษา บ้างก็ติดเฉพาะคน เช่น พ่อแม่ติดลูกไม่ติด หรือลูกติดพ่อแม่ไม่ติด

 

 

ล่าสุดยังมีเหตุการณ์ “เด็กกำพร้า” ที่พ่อแม่เสียชีวิตจากโควิด-19 อีก เป็นภาพและเรื่องราวสุดสะเทือนใจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เตรียมมาตรการรองรับแล้ว

 

 

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กฯ เล่าว่า ในกรณีติดเชื้อโควิด-19 ทั้งครอบครัว ไม่มีปัญหา เพราะต้องถูกส่งเข้ารักษาทั้งครอบครัวอยู่แล้ว แต่กรณีพ่อแม่ติดแล้วลูกไม่ติด ทำให้ต้องแยกพ่อแม่ออกไปรักษา ตัวเด็กเองแม้จะยังตรวจไม่พบเชื้อแต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัวเอง ซึ่งในกรณีแบบนี้หากเป็นในพื้นที่กรุงเทพฯ เราจะประสานสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร นำเด็กเข้ากักตัวที่สเตทควอรันทีน 14 วัน

 

 

เมื่อกักตัวครบแล้ว หากยังกลับบ้านไม่ได้ ไม่ว่าพ่อแม่ยังไม่หายดี หรือยังไม่พร้อม เราก็จะนำเด็กเข้าสู่สถานสงเคราะห์ที่จัดรองรับไว้ 4 แห่ง คือ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี สถานสงเคราะห์เยาวชนมูลนิธิมหาราช สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด และสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านบางละมุง ซึ่งรองรับได้ 1,935 คน

 

 

ส่วนกรณีต่างจังหวัด ได้สั่งการไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัวที่มีทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดูแลช่วยเหลือเด็กและครอบครัวเช่นกัน

 

 

แต่บางครอบครัวที่ประสบความสูญเสียจากโควิด-19 ทำให้มี ‘เด็กกำพร้า’ อธิบดี ดย.ยืนยันว่าตัวเด็กจะได้รับการดูแลต่ออย่างแน่นอน

 

 

“ในส่วนของเด็กกำพร้า ตามกระบวนการ ขั้นแรกเราประสานครอบครัวเครือญาติก่อนว่าประสงค์รับไปอุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่ หากรับ ดย.ก็มีเงินสนับสนุนให้รายละ 2,000 บาทต่อเดือนต่อคน กรณีเป็นครอบครัวยากจนก็มีเงินสงเคราะห์ครอบครัวยากจนสนับสนุนให้อีก รวมถึงเงินกองทุนคุ้มครองเด็ก ซึ่งได้ปรับให้สามารถเบิกจ่ายครอบคลุมการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้

 

 

  “แต่หากไม่พร้อมหรือไม่มีเครือญาติเหลืออยู่เลย ตัวเด็กก็จะเข้าสู่สถานสงเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันยังสามารถรองรับเด็กได้อีก 1,935 คน ใน 22 แห่งทั่วประเทศ เข้ามาเราดูแลเรื่องปัจจัย 4 จนถึงอายุ 18 ปี พร้อมส่งเรียนจนจบการศึกษาทุกคน”

 

 

ขณะนี้ ดย.กำลังรวบรวมข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเด็กกำพร้า เพื่อนำไปสู่การออกมาตรการช่วยเหลือในภาพรวมต่อไป

 

 

ระหว่างนี้ได้ปรับปรุงระบบแอปพลิเคชั่น “คุ้มครองเด็ก” ที่ให้แจ้งช่วยเหลือเด็กถูกกระทำความรุนแรง เด็กประสบภาวะยากลำบาก ด้วยการเพิ่มช่องทางแจ้งขอรับความช่วยเหลือเด็กติดโควิด เด็กที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 และเด็กกำพร้า

 

 

ล่าสุดยังเตรียมเปิดตัว “ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด” ผ่านระบบ “ไลน์ออฟฟิเชี่ยลแอคเคานต์” LINE @savekidscovid19 ให้บริการข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อเด็กและเยาวชน การแชทถามตอบให้คำปรึกษาด้านเด็กและเยาวชน ตลอดจนการแจ้งขอรับความช่วยเหลือของเด็กและเยาวชน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ดย.กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดให้บริการภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

 

อธิบดี ดย.กล่าวทิ้งท้ายว่า หากพบเห็นเด็กประสบความเดือดร้อน เด็กติดโควิดเข้าไม่ถึงการรักษา สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่แอพพ์คุ้มครองเด็ก หรือโทรสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร.1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง