รีเซต

พม.เผยโควิดเพิ่มยอดเด็กกำพร้าแล้ว 369 ราย ห่วงเรียนออนไลน์ ทำคุณภาพการศึกษาถดถอย 1 ปี คาดสิ้นปีนี้เด็กหลุดระบบการศึกษาอีก 6.5 หมื่นคน

พม.เผยโควิดเพิ่มยอดเด็กกำพร้าแล้ว 369 ราย ห่วงเรียนออนไลน์ ทำคุณภาพการศึกษาถดถอย 1 ปี คาดสิ้นปีนี้เด็กหลุดระบบการศึกษาอีก 6.5 หมื่นคน
มติชน
6 กันยายน 2564 ( 14:29 )
32
พม.เผยโควิดเพิ่มยอดเด็กกำพร้าแล้ว 369 ราย ห่วงเรียนออนไลน์ ทำคุณภาพการศึกษาถดถอย 1 ปี คาดสิ้นปีนี้เด็กหลุดระบบการศึกษาอีก 6.5 หมื่นคน

พม.เผยโควิดเพิ่มยอดเด็กกำพร้าแล้ว 369 ราย อึ้ง 3 จว.ชายแดนใต้ติดท็อป 5 ห่วงเรียนออนไลน์ ทำคุณภาพการศึกษาถดถอย 1 ปี คาดสิ้นปีนี้เด็กหลุดระบบการศึกษาอีก 6.5 หมื่นคน แนะฉีดวัคซีนครูให้ครบก่อน ส่วนเด็กรอวัคซีนที่ปลอดภัย

 

 

เมื่อวันที่ 6 กันยายน นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการแถลงข่าวออนไลน์เรื่อง สถานการณ์เด็กกำพร้า ผลกระทบจากโควิด-19 และการเยียวยาฟื้นฟู เพื่อปิดช่องว่างกลไกช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กและครอบครัว จัดโดย ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ว่า จากข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบเด็กติดเชื้อโควิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 4 กันยายน 2564 มีจำนวน 142,870 คน แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ 31,111 คน และภูมิภาค 111,759 คน

 

 

ทั้งนี้ พม.ได้ทำการสำรวจสถานการณ์เด็กกำพร้าจากโควิด-19 เพื่อให้การช่วยเหลือ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคมถึง 4 กันยายน 2564 มีจำนวน 369 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นภูมิภาค 55 จังหวัด 362 คน โดย 5 จังหวัดที่มีเด็กกำพร้ามากที่สุดคือ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา พระนครศรีอยุธยา และกาฬสินธุ์ตามลำดับ ขณะที่กรุงเทพฯ 7 คน โดยเป็นการกำพร้าพ่อมากที่สุด 180 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 48.78 รองลงมากำพร้าแม่ 151 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 40.92 ขณะที่กำพร้าทั้งพ่อและแม่ 3 คน และไม่มีผู้ดูแล 35 คน

นอกจากนี้ พบช่วงอายุเด็กกำพร้า ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 6-18 ปี รองลงมาช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี ขณะที่เด็กกำพร้าที่มีอายุน้อยที่สุดคือ อายุ 1 วัน จากการสูญเสียแม่ อย่างไรก็ตาม พม.ได้บันทึกข้อมูลเด็กเหล่านี้ลงในระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก (Child Protection Information System) หรือระบบ CPIS เพื่อให้การช่วยเหลือ ติดตามการช่วยเหลือ และพัฒนาต่อไป

 

 

โดยได้ให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงปัจจุบัน 9 พันกว่าราย ทั้งเด็กไทยและเด็กข้ามชาติที่ไม่หรือไม่มีสัญชาติ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การให้ความช่วยเหลือ เช่น ให้เงินสงเคราะห์เด็กฯ ให้สิ่งของอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ส่วนการช่วยเหลือระยะยาวเป็นการจัดทำแผนแยกรายบุคคล เช่น การจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เด็ก อีกทั้งได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น การฟื้นฟูสุขภาพจิต โดยกรมสุขภาพจิต การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น

 

 

นางสุภัชชา กล่าวอีกว่า ฉะนั้นสามารถแจ้งช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ที่สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร.1300 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอพพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก ตลอดจนศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ผ่านไลน์ @savekidscovid19

 

 

ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า กสศ.ทำงานกับกลุ่มเด็กเปราะบาง ยากจน เห็นการเปลี่ยนแปลงการกลับสู่ชุมชนท้องถิ่น น่าตกใจ 2 ปีที่ผ่านมา พบเด็กครอบครัวยากจนและยากจนพิเศษถึง 1.8 ล้านคน โดยเฉพาะยากจนพิเศษมีถึง 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% หากไม่มี กสศ.ช่วยเด็กจะหลุดระบบการศึกษามากน้อยเท่าไหร่ กสศ.จึงเข้าไปดูแลจัดสรรทุนการศึกษาให้กับเด็กรายหัวละ 1,000 กว่าบาท ทำให้เด็กที่พ่อแม่ตกงาน ยากจนจากรายได้ที่น้อยอยู่แล้วต่อเดือนประมาณ 1,200 บาท เหลือประมาณ 1,021 บาท ลดลง 11% เฉลี่ยรายได้ต่อวันเพียง 34 บาทต่อคน  โอกาสที่เด็กจะหลุดระบบการศึกษาจึงค่อนข้างมาก

 

 

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่าในสิ้นปีนี้อาจจะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาถึง 6.5  หมื่นคน หากเราไม่ดำเนินการช่วยเหลือ โชคดีที่เรารีบดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง จาก 8 แสนคนที่มีอยู่ช่วงรอยต่อประมาณ 294,484 คน ในจำนวนนี้ 242,081 หรือ 82% กลับมาเรียนสู่ระบบการศึกษาได้ โดยพยายามเข้าไปอุดช่องปัญหาพร้อมให้ทุนการศึกษา ขณะเดียวกัน 43,060 คน หรือ 14.6 % หายไปจากรอยต่อการศึกษา เป็นระดับมัธยมต้นจำนวน 33,170คน  ป.6 จำนวน  8,699 คน ต้องติดตามค้นหา เพราะถ้าเด็กหลุดแล้ว จะกลายเป็นเด็กนอกระบบ เกิดปัญหาสังคมต่างๆ รุมเร้า สุดท้ายจะเป็นแรงงานไร้ฝีมือซึ่งจะมีจำนวน 20 ล้านคน ดังนั้นภาวะวิกฤติขณะนี้เด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบต้องเฝ้าดูและติดตามใกล้ชิด

 

 

“สิ่งหนึ่งที่ค้นพบ การเรียนออนไลน์ที่ส่งผลต่อภาวะถดถอยทางการศึกษาถึง 50%  หรือครึ่ง-1ปีการศึกษา ส่งผลต่อการคุณภาพการศึกษา เกิดการสูญเสียต่อจีดีพีถึง 30% ของเด็กรุ่นนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นการถดถอยด้อยคุณภาพ เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในขณะนี้” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวและว่า

 

 

รวมถึงระบบการเรียนรู้ผ่านหน้าจนเกิดภาวะความเครียดจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร รวมถึงเมื่อเปิดภาคเรียน ครูจะมีวิธีจัดการและระบบแนะแนวทำอย่างไร ในการรับมือเด็กอาจจะที่ภาวะซึมเศร้า เด็กยากจนเปราะบาง  ในส่วนของเด็กกำพร้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พบมากสุด กสศ.กำลังมีกิจกรรมลงไปช่วยเหลือทั้งโครงการอาหารเช้าสำหรับเด็ก ซึ่งพบ 40% ไม่ได้ทานอาหารเช้า และทำงานร่วมกับสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อชายแดนใต้ หรือกลุ่มลูกเหรียงเข้าไปเยียยวยาช่วยเหลือเป็นรายบุคคล  เพื่อลดภาวะความเสี่ยงและไม่หลุดจากระบบการศึกษา และนำกลับสู่เครือญาติหรือครอบครัวพึงพิงได้

 

 

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายที่มีการเตรียมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก 4 ล้านโดสในเด็ก 12-18 ปี มาถูกทาง ซึ่งเดือนพฤศจิกายนจะค่อยๆ ทยอยเปิดโรงเรียน คำถามในเดือนกันยายนจะฉีดให้เด็กกลุ่มไหนก่อน มุมมองสิทธิเด็ก เด็กทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีน แต่กลุ่มเสี่ยง เปราะบาง ที่ต้องเฝ้าดูพิเศษ ที่อยู่ในชุมชนแออัด ควรได้รับการฉีดเป็นกลุ่มแรกๆ ก่อน เพื่อไม่ให้เด็กเป็นตัวแพร่เชื้อ และขณนี้ครูอีก 45% ที่ฉีดครบ 2 โดส จะทำอย่างไรที่จะฉีดครูให้ครบ 70% ทั้งประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนที่จะเปิดภาคเรียนในเดือนพฤศจิกายน

 

 

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จำนวนเด็กติดเชื้อโควิด-19 มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เป็นกลุ่มเด็กโตอายุ  12-18 ปี 38% อายุ 6-12 ปี 32%  ต่ำกว่า 6 ปี  5% แต่อัตราเสียชีวิตในเด็กน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นเด็กโต 12-18 ปีเพราะมีโรคร่วม ขณะที่เด็กเล็ก 6-12 ปียังไม่มีรายงานเสียชีวิต เนื่องจากเด็กมีระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้เชื้อโรคใหม่ๆ ได้ดีกว่าผู้ใหญ่

 

 

และเด็กส่วนใหญ่รับเชื้อมาจากผู้ใหญ่โดยเฉพาะในครอบครัวและชุมชน ส่วนน้อยที่จะติดมาจากโรงเรียน ดังนั้นเด็กไม่ใช่ตัวแพร่เชื้อ จะเห็นว่ายังไม่เคยมีรายงานว่าเด็กเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ ดังนั้นการไม่เปิดโรงเรียนจะเสียหายและเกิดปัญหามากกว่าทั้งเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ก็เปิดให้เด็กไปเรียน

 

 

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในเด็กนั้นต้องมีความมั่นใจถึงความปลอดภัย ขณะนี้องค์การอนามัยโลกก็ยังค้าน เพราะยังไม่มีวัคซีนตัวไหนรับรองการฉีดในเด็กแล้วปลอดภัย แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 12-18 ปีก็เป็นการรับรองการใช้ในภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากผู้ใหญ่ไม่ยอมฉีด ในอังกฤษ ออสเตรเลียก็ยังไม่ฉีด ในเยอรมนีฉีดโดยความยินยอมของผู้ปกครอง ส่วนวัคซีนจีนก็ยังไม่มีข้อมูลรองรับถึงความปลอดภัย

 

 

ดังนั้นการใส่อะไรเข้าไปในร่างกายเด็กต้องระวัง เพราะการตอบสนองร่างกายในเด็กต่างจากผู้ใหญ่ ขนาดปริมาณโดสที่เหมาะสมเท่าไหร่ก็ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด อย่างสหรัฐอเมริกาที่ฉีดในเยาวชนเป็นแสน ก็ยังพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ฉะนั้นต้องคำนึงความปลอดภัยรอบด้าน ยิ่งอายุน้อยก็อาจจะมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจหรือไม่ ไม่มีใครรู้ผลระยะยาวที่จะเกิดขึ้น

 

 

“การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนเสียหายเยอะมาก ทั้งการเรียนรู้ พัฒนาการด้านสังคม ร่างกาย อีกทั้งทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา จากความเหลื่อมล้ำ ที่บางคนมี บางคนไม่มี ฉะนั้นต้องแก้ด้วยวัคซีนที่ทั่วถึง แต่ก็ต้องพิจารณาวัคซีนที่ปลอดภัยกับเด็ก อาจรอในอนาคตก็ได้ ใจเย็นๆ กว่าการใช้วัคซีนฉุกเฉิน รวมถึงการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง 1 เมตร ระบบอากาศในห้องเรียนที่มีอากาศข้างนอกเข้ามาหมุนเวียน หากใครมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือป่วย ต้องหยุดเรียนทันที

 

 

“นอกจากนี้ ต้องสุ่มตรวจ ATK เพื่อสกรีน หากมีเด็กป่วยไม่ต้องปิดทั้งโรงเรียนเหมือนที่ผ่านมา อาจปิดเป็นห้องๆ ที่มีการติดเชื้อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไปหมด อย่างไรก็ตาม เพราะไม่มีผลศึกษาว่าเด็กเป็นผู้แพร่เชื้อ ทำให้ในยุโรป อเมริกาเปิดโรงเรียนกันหมดแล้ว ส่วนญี่ปุ่นเองก็ล็อกดาวน์หมด ยกเว้นโรงเรียน” ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง